ฮ่องกง-กรุงเทพฯ เบียดกันสูสีขึ้นอันดับ Top10‘เมืองยอดนิยม’ของนักเดินทาง

03 ธ.ค. 2562 | 10:15 น.

 

ผลสำรวจ Top 100 City Destinations ของยูโรมอนิเตอร์ ที่จัดอันดับเมืองใหญ่ 100 แห่งทั่วโลกที่มีจำนวนชาวต่างชาติมาเยือนมากที่สุดในปี 2019 พบว่า ฮ่องกงยังเป็นตัวเต็งมาอันดับ 1 ขณะที่กรุงเทพมหานคร เข้าวินมาเป็นอันดับ 2 ตามด้วย มาเก๊า และสิงคโปร์ ในอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ

 

ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล  บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก เปิดเผยผลสำรวจของปี 2019 ที่เหลือเวลาอีกไม่กี่สิบวันก็จะสิ้นสุดลงแล้ว แนวโน้มชี้ว่า ฮ่องกงจะยังคงครองแชมป์เมืองที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ (international visitor) มากที่สุดเป็นอันดับ 1

 

ผลสำรวจในปีนี้ยังชี้ให้เห็นว่า เมืองใหญ่ของเอเชียคือจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักเดินทาง เพราะใน 100 อันดับที่ทำการสำรวจนั้น เป็นเมืองใหญ่ในประเทศแถบเอเชียจำนวนมากกว่า 40 แห่ง นอกจากนี้ ใน 10 อันดับแรกของโลกยังเป็นเมืองหลวงของประเทศสมาชิกอาเซียนถึง 3 ประเทศ

ฮ่องกง-กรุงเทพฯ เบียดกันสูสีขึ้นอันดับ Top10‘เมืองยอดนิยม’ของนักเดินทาง

 

สถิติที่น่าสนใจนอกเหนือจากความสามารถในการดึงดูดผู้มาเยือนเป็นอันดับ 1 ของฮ่องกงแม้จะตกอยู่ในภาวะความวุ่นวายของการชุมนุมประท้วงมายืดเยื้อยาวนานตั้งแต่เดือนมิถุนายนซึ่งทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปมากนั้น  ยังมีเรื่องการหล่นอันดับของมหานครนิวยอร์ค ที่เสื่อมมนต์ขลัง ไม่ติด 10 อันดับแรก

 

รายงานระบุว่า แม้นิวยอร์คยังครองความเป็นเมืองใหญ่ของสหรัฐฯที่มีผู้มาเยือนมากที่สุด แต่เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ของประเทศอื่นๆ ปีนี้นิวยอร์คร่วงจากอันดับ 8 มาอยู่ที่อันดับ 11 ตามมาห่างๆด้วยไมอามี่ ลอสแองเจลิส และลาสเวกัส ที่ได้อันดับ 29, 33 และ 38 ตามลำดับ
 

แม่น้ำยมุนา กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

ขณะที่กรุงนิวเดลีของอินเดีย สามารถเข้าทำเนียบ Top10 ได้เป็นครั้งแรกในปีนี้ ส่วนลอนดอน ได้รับผลกระทบจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้นในการออกวีซ่าให้กับนักเดินทางที่มาจากอียู ทำให้เข้าอันดับมาเป็นที่ 5

 

คาดว่า จำนวนเที่ยวการเดินทางไปยังต่างประเทศซึ่งนับจากการเดินทางขาเข้า (inbound arrival) ทั่วโลกในปีนี้ จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 4.2% เป็น 1,500 ล้านเที่ยว 

 

ราเบีย ยาสมีน ผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ เปิดเผยว่า การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นสิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เมืองใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯ ยังคงต้องการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นนักช้อปจ่ายหนัก มาเยือนกันมากขึ้น แต่การเป็นปฏิปักษ์ทางการค้าทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

 

ทั้งนี้ การจัดอันดับของยูโรมอนิเตอร์ วัดจากจำนวนนักเดินทางต่างชาติที่ผ่านการตรวจลงตราเป็นผู้มาเยือน ‘ขาเข้า’ (international arrivals) และพำนักอยู่ในเมืองนั้นๆมากกว่า 24 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 1 ปี เป็นได้ทั้งผู้เดินทางเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อธุรกิจ หรือเพื่อเยี่ยมญาติมิตรในต่างประเทศ แต่ไม่รวมผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศเพื่อทำงานระยะยาวหรือเพื่อการศึกษา ไม่รวมนายทหารที่ถูกส่งไปประจำการในต่างแดน และไม่รวมพนักงานสายการบินที่บินเข้าออกเมืองนั้นๆ อีกทั้งยังไม่รวมผู้อพยพหรือผู้พลัดถิ่น  มีการเก็บข้อมูลในเมืองใหญ่ทั่วโลกมากกว่า 400 แห่ง

 

ฮ่องกง ยังคงแนวโน้มครองแชมป์อันดับ 1 ในปีนี้

สำหรับการสำรวจและจัดอันดับในปีนี้ คำนวณจากตัวเลขการเดินทางขาเข้าที่ยังเก็บข้อมูลไม่ครบตลอดทั้งปี ดังนั้น อันดับจึงยังอาจมีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ไซม่อน ฮาเว่น นักวิเคราะห์อาวุโสของยูโรมอนิเตอร์ให้ความเห็นว่า กรณีของฮ่องกงแม้ในระยะเดือนท้ายๆของปีจะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงที่เพิ่มความรุนแรงทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลง แต่ยอดนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามามากในช่วงครึ่งแรกของปี ก็ช่วยลดทอนแรงกระทบในช่วงครึ่งหลังไปได้

 

“ผู้เดินทางขาเข้าของฮ่องกงพุ่งขึ้นในอัตรา 14% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จากนั้นจึงเริ่มลดลงในเดือนกรกฎาคม และเดือนที่ตกมากที่สุดคือสิงหาคม นักเดินทางขาเข้าลดลงถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561  ส่วนปีนี้ตลอดทั้งปีคาดว่า ตัวเลขผู้เดินทางต่างชาติขาเข้าของฮ่องกงจะลดลง 5-10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว” ซึ่งการลดลงในอัตราดังกล่าวจะทำให้ฮ่องกงยังคงครองสถานะที่โดดเด่นเหนือคู่แข่งขัน รวมทั้งกรุงเทพฯที่ตามมาเป็นอันดับ 2      

กรุงเทพมหานครมาเป็นอันดับ 2

การจัดอันดับ Top 100 City Destinations ของยูโรมอนิเตอร์มีขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2013 (พ.ศ. 2556) พัฒนาการที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือการดาหน้าขึ้นอันดับต้นๆของบรรดาเมืองใหญ่ในเอเชีย ที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทางมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีเมืองของภูมิภาคเอเชียเข้าอันดับมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะประชากรชนชั้นกลางของเอเชียมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ประกอบกับนักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงออกเดินทางไปในต่างแดนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวชาวมิลเลนเนียลของเอเชียเอง มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆภายในภูมิภาคมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง