โค้งอันตราย สงครามการค้าเดือด ทุบเศรษฐกิจข้ามปี

04 ธ.ค. 2562 | 06:40 น.

 

บรรยากาศการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะเดือนธันวาคมนี้ ทุกสายตาจับจ้องวันที่ 15 .. ซึ่งสหรัฐฯขีดเส้นเป็นกำหนดวันขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกระลอกในอัตราเพิ่ม 15% คิดเป็นวงเงินประมาณ 156,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าเกือบทุกรายการที่จีนส่งออกมายังสหรัฐฯ ที่ยังไม่โดนเก็บภาษีเพิ่มจากครั้งก่อนๆ หากทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาทำข้อตกลงสงบศึกบางส่วนที่เรียกกันว่า ข้อตกลงการค้าเฟส 1 สำเร็จ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยลั่นวาจาไว้ว่าการขึ้นภาษีครั้งใหม่กลางเดือนธันวาคมก็จะไม่เกิดขึ้น

 

การเมืองทำความหวังริบหรี่

แต่มาถึงช่วงเวลานี้ ไม่มีใครมั่นใจได้อีกแล้วว่าข้อตกลงที่เป็นความหวังดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ทัน เพราะจนถึงขณะนี้แม้ทั้ง 2 ฝ่ายยังคงเดินหน้าเจรจากันอยู่ โดยนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลัง ที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหรัฐฯ อาจจะเดินทางเยือนจีนอีกครั้งหลังวันหยุดเทศกาลขอบคุณพระเจ้าเพื่อเร่งเคลียร์ประเด็นปัญหาที่ยังค้างคากันอยู่ แต่บรรยากาศรอบข้างกลับทวีความคุกรุ่นของสภาวะความเป็นปฏิปักษ์หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ตัดสินใจลงนามบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 ..) ซึ่งจีนมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศของจีน และได้แถลงมาตรการตอบโต้ออกมาแล้วเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกแถลงการณ์ควํ่าบาตร 3 องค์กรอิสระที่เคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ และห้ามไม่ให้เรือรบสหรัฐฯเข้าเทียบท่าที่ฮ่องกง แม้จะเป็นมาตรการตอบโต้ที่พุ่งไปทางด้านการเมืองและไม่ได้แตะประเด็นด้านการค้า แต่ก็ส่งผลเชิงลบต่อบรรยากาศการเจรจาการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งยังสั่นคลอนความมั่นใจของนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลก สะท้อนจากราคาหุ้นที่วูบไหวขึ้นๆลงๆ ตามข่าวที่เกิดขึ้น

 

ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาแย้มๆเองระหว่างร่วมประชุมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ ที่อังกฤษวันนี้ (4 ธ.ค.) ว่า อาจจะดีกว่าถ้าจะรอให้ผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปลายปีหน้า (พ.ย. 2563) ไปก่อน แล้วค่อยทำข้อตกลงการค้ากับจีน

 

โค้งอันตราย  สงครามการค้าเดือด  ทุบเศรษฐกิจข้ามปี

โดนัลด์ ทรัมป์

 

ไม่คืบหน้าก็แตกหัก

สถานะการเจรจาถูกต้อนเข้าสู่มุมลำบาก เป็นทาง 2 แพร่ง ที่นักวิเคราะห์เรียกว่า ถ้าไม่จับมือกัน ก็แตกหักกันไปเลย ซึ่งดูสถานการณ์แล้วไม่มีอะไรให้มั่นใจหรือคาดหวังในเชิงบวก เนื่องจากการตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯนั้นเป็นเรื่องยากจะคาดเดา และมักจะเกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย

 

ต้นเดือนธันวาคมมานี้ ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯมีการเทขายปริมาณมากจากข่าวเชิงลบในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่แผ่วกำลังลงมากกว่าความคาดหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจกำลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่นั่นก็ยังไม่ได้ทำให้ผู้นำสหรัฐฯมีท่าทีที่เป็นบวกต่อการเจรจาการค้า หรือประนีประนอมกับคู่ค้ามากขึ้นแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม ประธานาธิบดี ทรัมป์กลับแสดงท่าทีชัดเจนว่า พร้อมชนหรือใช้ไม้แข็งในการเจรจาไม่ว่าจะกับจีนหรือประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ รวมทั้งสหภาพยุโรป (อียู) สร้างความระทึกใจให้กับนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลก เพราะปมพิพาทเก่ายังหาทางลงกันไม่ได้ ปัญหาใหม่ก็ตั้งเค้าจ่อคิวเข้ามาอีกแล้ว เป็นสถานการณ์อึมครึมที่หากไม่สามารถคลี่คลายลงได้ในปีนี้ ก็จะส่งผลยืดเยื้อลากยาวต่อไปในปีหน้า

 

 

 

เปิดแนวรบใหม่รอบด้าน

โดยแนวรบใหม่ที่สหรัฐฯกำลังก่อหวอดอยู่คือ การเปิดศึกการค้ากับ 2 มหาอำนาจในลาตินอเมริกา คือบราซิล และอาร์เจนตินา ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวหาว่ากดค่าเงินให้ตํ่ากว่าความเป็นจริงเพื่อฉวยประโยชน์ทำให้มีความได้เปรียบในการส่งออกสินค้าเกษตร ดังนั้น เมื่อวันจันทร์ (2 ..) สหรัฐฯประกาศจะขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจาก 2 ประเทศนี้ แต่ทั้งบราซิล และอาร์เจนตินา ยังมีโอกาสที่จะเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯในเรื่องดังกล่าว

 

วันเดียวกันประธานาธิบดีทรัมป์ยังขู่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากฝรั่งเศสอีกหลายรายการในอัตราเพิ่มขึ้นถึง 100% (วงเงินรวม 2,400 ล้านดอลลาร์) อาทิ แชมเปญ กระเป๋าถือ เนยแข็ง ฯลฯ เป็นมาตรการตอบโต้การที่ฝรั่งเศสประกาศใช้ภาษีดิจิทัลเรียกเก็บ 3% จากรายได้ของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีที่เข้าไปสร้างผลประโยชน์จากการให้บริการในประเทศฝรั่งเศส ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯระบุว่า มาตรการของฝรั่งเศสสร้างผลกระทบต่อบริษัทอเมริกันจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก แอปเปิล กูเกิล อเมซอน ฯลฯ รัฐบาลสหรัฐฯจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกัน และกำลังไต่สวนด้วยว่าภาษีบริการดิจิทัลในออสเตรีย อิตาลี และตุรกี ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ ภาษีดิจิทัลของฝรั่งเศส สร้างผลกระทบต่อผลประโยชน์ของเอกชนสหรัฐฯอย่างไม่เป็นธรรมด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของเอกชนและผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้าฝรั่งเศสจนถึงวันที่ 14 มกราคมปีหน้า รวมทั้งเวทีประชาพิจารณ์ในวันที่ 7 มกราคม 2563 ว่าถ้าไม่ขึ้นภาษีจะมีทางเลือกอื่นๆ หรือไม่ เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมหรือตั้งข้อจำกัดบริการของบริษัทฝรั่งเศสเป็นการตอบโต้

 

ยูเอสทีอาร์ยังไม่ได้กำหนดเส้นตายว่าจะขึ้นภาษีสินค้าฝรั่งเศสในอัตราเพิ่ม 100% เมื่อใด เพราะฉะนั้นระหว่างนี้จึงเป็นโอกาสของการเจรจาต่อรอง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาของความไม่แน่นอนที่สร้างความหวั่นใจให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากศึกช้างชนช้างที่ยากจะคาดเดาผลลัพธ์ ซํ้ายังส่อเค้ายืดเยื้อข้ามปีค่อนข้างแน่นอนแล้ว

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,528 วันที่ 5-7 ธันวาคม 2562

โค้งอันตราย  สงครามการค้าเดือด  ทุบเศรษฐกิจข้ามปี