อาร์เซ็ปยังวุ่น ญี่ปุ่นอาจไม่ลงนาม ถ้าขาดอินเดีย

02 ธ.ค. 2562 | 09:58 น.

 

ท่าทีของรัฐบาลอินเดียที่ประกาศจะถอนตัวจากการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ปเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวอินเดียจำนวนมากที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันจากการแข่งขันหากสินค้าต่างชาติถั่งโถมเข้ามาจากการเปิดตลาดเสรี ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าการเจรจาอาร์เซ็ปจะเดินหน้าต่อไปก่อนโดย 15 ประเทศที่เหลือ และในอนาคตหากอินเดียพร้อมเมื่อไหร่ก็สามารถจะเข้ามาร่วมได้ในภายหลัง

 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนอุปสรรคไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 พ.ย.) มีรายงานข่าวว่า แหล่งข่าวระดับสูงที่ใกล้ชิดในการเจรจาฝ่ายญี่ปุ่นได้ออกมาให้ข่าวว่า ญี่ปุ่นยังไม่ได้พิจารณาเลยว่าจะลงนามในข้อตกลงอาร์เซ็ปหรือไม่ เพราะญี่ปุ่นขอคงจุดยืนการเจรจาที่ว่าในอาร์เซ็ปต้องมีอินเดียไว้ก่อน

ผู้นำอินเดียและญี่ปุ่นพบกันล่าสุดในการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ปที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา

“เรายังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลย สิ่งเดียวที่เรานึกถึงในเวลานี้คือการเจรจาที่มีอินเดียร่วมอยู่ด้วย” นายฮิเดกิ มากิฮาระ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์ก ซึ่งข้อคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่การพบปะระหว่างผู้นำญี่ปุ่นและอินเดียกำลังจะมีขึ้นในเร็วๆนี้ เขาย้ำว่า การมีอินเดียเข้าร่วมการเจรจาอาร์เซ็ปด้วยจะทำให้การรวมกลุ่มความตกลงดังกล่าวมีความหมายทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง “ญี่ปุ่นจะยังคงพยายามเกลี่ยกล่อมให้อินเดียเข้าร่วม(อาร์เซ็ป)ต่อไป” นายมากิฮาระยังเปิดเผยด้วยว่า เขาจะติดตามคณะของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนประเทศอินเดียอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้ 


 

นายชินโซ อาเบะ และนายนเรนทรา โมดี เมื่อครั้งพบกันที่กรุงนิวเดลี เมื่อเดือนกันยายน 2560

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีกำหนดการเดินทางเยือนกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียราวกลางเดือนธันวาคม ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่คาดว่าผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายจะหยิบยกขึ้นมาหารือ คือคาดว่าญี่ปุ่นจะพยายามเกลี่ยกล่อมให้อินเดียทบทวนใหม่เกี่ยวกับแผนถอนตัวออกจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป ที่ประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ บวกกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย

 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเองก็มุ่งหวังที่จะกระชับความสัมพันธ์กับอินเดียในหลากหลายมิติเพื่อถ่วงดุลไม่ให้จีนแผ่อิทธิพลในภูมิภาคนี้มากจนเกินไป ขณะที่การพบกันระหว่างนายอาเบะและนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดียกำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการพบปะหารือกันแล้วเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและอินเดียเป็นประเทศสมาชิกการเจรจาจตุภาคีความมั่นคงที่เรียกว่า Ouad ซึ่งประกอบด้วยญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

 

ภายหลังการประชุมระดับผู้นำของอาร์เซ็ปที่ประเทศไทยในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา 15 ประเทศ (ซึ่งไม่รวมอินเดีย) ตั้งเป้าหมายจะลงนามทำข้อตกลงอาร์เซ็ปให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปี 2563 แต่กระนั้นก็ตาม ญี่ปุ่นยังหวังว่าอาร์เซ็ปควรจะต้องมีอินเดียร่วมอยู่ด้วย

 

การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและอินเดียนั้นเพิ่มอัตราเร่งขึ้นมากในยุคของรัฐบาลปัจจุบัน โดยการเดินทางเยือนอินเดียในเดือนธันวาคมนี้ของนายอาเบะ จะเป็นครั้งแรกนับจากที่เขาเคยเยือนอินเดียครั้งล่าสุดในเดือนกันยายนปี 2560 ส่วนนายโมดีนั้น ได้เยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการครั้งล่าสุดในเดือนตุลาคม 2561 และผู้นำทั้งสองได้พบกันครั้งล่าสุดในการประชุมอาเซียนซัมมิตและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา