เส้นทางรถไฟจากจีนสู่กรุงปราก : เชื่อมเอเชีย

30 พ.ย. 2562 | 04:37 น.

 

 

บทความพิเศษโดย:เอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก

 

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ขบวนรถไฟสายใหม่ของจีนที่วิ่งจากนครซีอาน มณฑลส่านซีไปยังกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ได้เข้าจอดที่สถานีรถไฟ Melnik ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาค Central Bohemia ห่างจากกรุงปรากประมาณ 35 กิโลเมตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การขนส่งสินค้าทางรถไฟจากเอเชียไปยังยุโรปโดยไม่ผ่านรัสเซีย โดยเส้นทางรถไฟดังกล่าวมีระยะทางประมาณ 11,500 กิโลเมตรและเป็นการเดินทางผ่านอุโมงค์ Marmaray บริเวณบอสพอรัส (Bosporus) หรือช่องแคบอิสตันบูล (Strait of Istanbul) ซึ่งเส้นทางรถไฟสายนี้ทำให้หวนนึกถึง

ความยิ่งใหญ่ของเส้นทางสายไหมในอดีต ที่กำลังจะถูกปลุกให้ฟื้นกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางผ่านความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป

เส้นทางรถไฟจากจีนสู่กรุงปราก : เชื่อมเอเชีย

รถไฟขนส่งสินค้าของจีนซึ่งบรรทุกสินค้าจำนวน 42 ตู้สินค้า (ขนาดความยาวตู้ละ 40 ฟุต) ความยาวของขบวนรถทั้งหมดประมาณ 820 เมตร และสินค้าส่วนใหญ่ ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ laptop hard disk แผงวงจรในเครื่องโทรทัศน์ เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ และอะไหล่รถยนต์ ได้ออกเดินทางออกจากนครซีอานมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีนและผ่านเข้าสู่คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย ตุรกี บัลแกเรีย เซอร์เบีย ฮังการี สโลวะเกีย ก่อนถึงจุดหมายปลายทางที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก โดยใช้เวลาในการเดินทางทั้งหมด 18 วัน (การเดินทางระหว่างนครซีอาน – นครอิสตันบูลใช้เวลา 12 วัน จากเดิมประมาณ 1 เดือน)

เส้นทางรถไฟจากจีนสู่กรุงปราก : เชื่อมเอเชีย

เส้นทางเดินรถไฟขนส่งสินค้าเส้นนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลตุรกี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเชื่อมโยงภูมิภาคยุโรปและเอเชียเข้าด้วยกัน ซึ่งตุรกีจะทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมระหว่าง 2 ภูมิภาค และ

การเดินทางครั้งประวัติศาสตร์นี้เกิดขึ้นภายหลังการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ทะเล Marmaray บริเวณช่องแคบ

อิสตันบูล ซึ่งเป็นอุโมงค์ใต้น้ำที่ลึกที่สุดในโลก มีระดับความลึก 60 เมตร และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ได้สนับสนุนงบประมาณ 1.83 พันล้าน USD ให้กับกลุ่มกิจการค้าร่วมซึ่งมีบริษัทTaisei ยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้างของญี่ปุ่นร่วมกับบริษัทก่อสร้างชั้นนำของญี่ปุ่นเป็นผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ยังไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่า เหตุใดปลายทางของรถไฟสายนี้จึงเป็นที่กรุงปราก

แต่คาดการณ์ได้ว่า ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากที่ตั้งของกรุงปรากซึ่งอยู่ในจุดกึ่งกลางของภูมิภาคยุโรป อีกทั้ง

กรุงปรากยังมีเครือข่ายเส้นทางการคมนาคมทางบกและทางอากาศที่เชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคหลายเส้นทาง และสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าจากจีนและเอเชียได้ต่อไปในอนาคต

เส้นทางรถไฟจากจีนสู่กรุงปราก : เชื่อมเอเชีย

การเข้าจอดของรถไฟขบวนดังกล่าวที่สถานีเมือง Melnik สาธารณรัฐเช็ก มีเหตุผลสำคัญเนื่องจากบริษัท Rail Cargo Operator (CSKD) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอกชนเช็กและสโลวะเกียเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์กับรถไฟขบวนนี้และเป็นผู้ดำเนินการกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เช่น ฮังการีและออสเตรีย

มีศูนย์ปฏิบัติการที่ใกล้กรุงปรากที่สุดที่สถานีรถไฟเมือง Melnik และรถไฟขบวนนี้ได้ใช้หัวรถจักรของการรถไฟเช็ก (Ceske drahy- CD หรือ Czech Railways) ในการลากจูงขบวนรถเมื่อเข้าสู่สาธารณรัฐเช็ก

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญการให้บริการด้านโลจิสติกส์ยังคงมองว่า การเดินรถไฟขนส่งสินค้าในเส้นทาง จีน-รัสเซีย-เบลารุส-โปแลนด์น่าจะสะดวกกว่าเนื่องจากเส้นทางดังกล่าวใช้ระยะเวลาขนส่งสินค้าเพียง 12 วัน (เทียบกับเส้นทางใหม่ซึ่งใช้เวลา 18 วัน)

 

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างเช็กและตุรกีจะเห็นได้ว่าทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเช็กให้การสนับสนุนตุรกีในการเข้าเป็นสมาชิกอียูมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเช็กยังต้องการขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนไปยังตุรกีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ไปยังตุรกี และทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าที่จะผลักดันให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจาก 3.65 พันล้าน USD เป็น 5 พันล้าน USD ในอนาคตอันใกล้ 

 

หากมองย้อนกลับไปดูจะเห็นว่า จีนมีการพัฒนาเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างจีนกับประเทศในยุโรปอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2557 รถไฟขนส่งสินค้าจากเมืองอี้อู่ (Yiwu) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ของจีนได้เดินทางไปยังกรุงมาดริดเป็นครั้งแรก และต่อมาในปี 2560 รถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรกจากเมืองอี้อู่ได้บรรทุกสินค้าจำนวน 88 ตู้สินค้า เดินทางผ่านคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ และเข้าจอดที่กรุงปรากเป็นครั้งแรกโดยใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 16 วัน สินค้าส่วนใหญ่ประกอบด้วยเสื้อผ้า สิ่งทอ รองเท้า หมวก และของตกแต่งสำหรับเทศกาลคริสต์มาส ในปัจจุบันจีนมีเส้นทางการเดินรถไฟระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอียูถึง 27 เส้นทาง โดยมีการเดินทางรวมกันมากกว่า 20,000 เที่ยวต่อปี แต่เส้นทางการเดินรถไฟทั้งหมดยังคงเป็นเพียงเพื่อการขนส่งสินค้า ยังไม่มีบริการสำหรับผู้โดยสาร

                                                              

หากในอนาคตมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบขนส่งระบบรางให้เชื่อมโยงกับประเทศอื่นในภูมิภาคยุโรป และระบบการผ่านแดนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อลดระยะเวลาการขนส่งได้ เส้นทางรถไฟสายใหม่นี้น่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์สำหรับสินค้าจากภูมิเอเชียรวมทั้งจากประเทศไทยในการเข้าสู่ตลาดในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก กอปรกับมีการพัฒนาไปสู่การให้บริการรถไฟสำหรับผู้โดยสารก็น่าจะเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปและเอเชียในการเดินทางไปท่องเที่ยวตามประเทศต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ตามแนวของเส้นทางรถไฟ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคเอเชีย-ยุโรปได้อีกทางหนึ่ง