เปิดตลาด ‘คิวบา’ แม่เหล็กดึงดูดการลงทุน

30 พ.ย. 2562 | 04:25 น.

คอลัมน์ชี้ช่องจากทีมทูต

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต กรุงเม็กซิโก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

ภายหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาในสมัยของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้ดำเนินมาตรการผ่อนปรนต่อคิวบา หรือ สาธารณรัฐคิวบา และประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์กับคิวบาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิวบาหันมาปฏิรูประบบเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การให้สิทธิประชาชนและภาคเอกชนถือครองทรัพย์สินและประกอบกิจการเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกิจการค้าปลีก การออกกฎหมายอนุญาตการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ในรูปแบบการร่วมทุน (Joint Venture) และการเป็นเจ้าของกิจการโดยนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด (Foreign Wholly Owned) ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดประเทศทางเศรษฐกิจมากขึ้นในอนาคต เกิดการพึ่งพาทางการค้ากับต่างประเทศ เพิ่มความหลากหลายให้แก่ตลาดสินค้าของคิวบา และส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนานอกเหนือจากธุรกิจภาคการเกษตร

 

แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันของสหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาตรการควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจต่อคิวบาอย่างเข้มงวดอีกครั้ง จนความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศต้องหยุดชะงักลง แต่นานาประเทศ รวมถึงไทยกลับมีความกระตือรือร้นในการสร้างความสัมพันธ์และโอกาสอันดีกับคิวบาในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่าทีของสหรัฐอเมริกาไม่ใช่ปัจจัยหยุดยั้งความพยายามและความต้องการของประเทศต่างๆ ในการเข้าไปแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจในคิวบา และความโดดเด่นของคิวบาก็สามารถดึงดูดประเทศต่างๆ ให้เข้าไปทำการค้า การลงทุน พร้อมทั้งสัมผัสกับความแปลกใหม่ของประเทศซึ่งถูกยกให้เป็นสีสันแห่งหมู่เกาะแคริบเบียนและภูมิภาคลาตินอเมริกา

สตรีทอาร์ทในเมืองหลวงฮาวานา ประเทศคิวบา

ความโดดเด่นประการแรก คือคิวบาเป็นประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยังคงปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ การพัฒนาของระบบเศรษฐกิจจึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมกลไกต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจ อาทิ การใช้ระบบการปันส่วนเป็นระบบแจกจ่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคแก่ประชาชน ในแต่ละเดือนประชาชนสามารถซื้อสินค้าได้ตามปริมาณและเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดไว้ ส่งผลให้ปริมาณสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร เนื่องจากอาหารที่ได้รับการปันส่วนมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของปริมาณความต้องการในแต่ละครัวเรือน จึงเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศเกษตรกรรมอย่างไทย ในการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด เนื้อไก่ ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต่อภาคการผลิต การบริโภค และการปศุสัตว์ เข้าไปยังคิวบา นอกเหนือจากสินค้าประเภทเทคโนโลยีและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นสินค้าส่งออกหลัก ทั้งนี้กลุ่มสินค้าเกษตรอาจส่งผลให้ไทยเกินดุลทางการค้าคิวบาและมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้น

 

รูปแบบการปกครองของคิวบายังมีข้อดีในการควบคุมและรักษาทรัพยากร ธรรมชาติของประเทศเอาไว้ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ถือเป็นจุดแข็งที่ดึง ดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปเป็นหนึ่งในกลไกของการบริหารจัด การและการสร้างผลผลิตทางธุรกิจมากขึ้น

เปิดตลาด ‘คิวบา’  แม่เหล็กดึงดูดการลงทุน


 

 

ประการต่อมา คิวบาเคยเป็นประเทศอาณานิคมของสเปน เพราะฉะนั้นร่องรอยทางศิลปะและวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากสเปนยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานกันระหว่างรูปแบบ Spanish Colonial ไปจนถึงสถาปัตยกรรมในแบบ Art Nouveau Art Deco และ Neoclassical นอกจากนี้ชาวคิวบายังให้ความสำคัญกับดนตรี งานศิลป์ ภาพยนตร์ และการอนุรักษ์รถเก่าสำหรับการขนส่งส่วนบุคคลและขนส่งสาธารณะ อีกทั้งความสวยงามของธรรมชาติอันเป็นผลพลอยได้จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของคิวบาที่ล้อมรอบไปด้วยทะเล เป็นจุดบรรจบของทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก และมหาสมุทรแอตแลนติก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้คิวบาโดดเด่นจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศเดินทางไปยังคิวบามากขึ้น ด้วยเหตุนี้คิวบาจึงต้องการการพัฒนาประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งสร้างรายได้หลักให้ประเทศกว่า 74%

 

การเตรียมพร้อมรับมือกับจำนวนนักท่องเที่ยวและนักลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลคิวบามีความจำเป็นต้องซ่อมแซมและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แต่ยังคงติดข้อจำกัด ขาดแคลนเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากพอต่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศ จึงต้องการนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องจักร สินค้าก่อ สร้าง ชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงการ นำเข้ารถยนต์และรถบรรทุก เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ ภายในประเทศ

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม สร้างรายได้หลักให้ประเทศกว่า 74%

 

กอปรกับคิวบามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) และต้องการการลงทุนจากต่างชาติปีละ 2,000 - 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เน้นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม เนื่องจากปัจจุบันคิวบามีจำนวนโรงแรมไม่เพียงพอสำหรับบริการนักท่องเที่ยว จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่จะสามารถเจาะตลาดคิวบาเพื่อลงทุนทางด้านโรงแรม นอกจากนี้ไทยยังมีโอกาสในการส่งออกสินค้าต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของคิวบา โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของคิวบาในการเปิดรับเม็ดเงินจากท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติ คือระบบการสื่อสารโทรคมนาคมส่วนใหญ่ยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะบริการอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันบริษัทของรัฐบาลเป็นผู้ให้บริการด้วยเทคโนโลยี 3G ทั่วประเทศ และเพิ่งยอมให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์มือถือได้ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2561 ซึ่งอาจจะกระทบต่อการติดต่อสื่อสารของบริษัทลงทุนต่างชาติได้ ด้วยเหตุนี้คิวบาจึงส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นวิธีการที่ทำให้ระบบการสื่อสาร รวมทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมของคิวบาดีขึ้นจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามพัฒนาการของคิวบา เพื่อที่จะสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งแห่งการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาดังกล่าว

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1-4 ธันวาคม 2562

เปิดตลาด ‘คิวบา’  แม่เหล็กดึงดูดการลงทุน