สหรัฐฯ-จีนแชมป์สร้างหนี้ IIF ชี้ ‘หนี้โลก’ พุ่งทะลุ 250 ล้านล้านดอลล์

17 พ.ย. 2562 | 13:15 น.

 

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ IIF (Institute of International Finance) เปิดเผยว่า ยอดหนี้โลกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 250.9 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว โดยมีสหรัฐอเมริกาและจีน คู่พิพาทรายใหญ่ในสงครามการค้า เป็นประเทศที่สร้างยอดหนี้สินสูงที่สุดในโลก

สหรัฐฯ-จีนแชมป์สร้างหนี้  IIF ชี้ ‘หนี้โลก’ พุ่งทะลุ 250 ล้านล้านดอลล์

รายงานของ IIF เผยแพร่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ว่าปัญหาหนี้ที่ทะยานสูงขึ้นทั่วโลกเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.ถึง มิ.ย.) ของปีนี้ ยอดหนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ รายงานคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2562 ปริมาณหนี้สินรวมของโลกน่าจะขยับขึ้นไปทะลุระดับ 255 ล้านล้านดอลลาร์ เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณใดๆที่ชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้โลกจะชะลอตัวลง

 

พุ่งทำสถิติทั้งหนี้ภาครัฐและหุ้นกู้เอกชน

IIF คาดการณ์ว่า เมื่อแยกในส่วนของหนี้ภาครัฐ (government debt) ออกมา ประมาณการณ์ว่าหนี้ภาครัฐทั่วโลกโดยรวมของทั้งปี 2562 นี้น่าจะขยับขึ้นสู่ระดับ 70 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 65.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2561 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการก่อหนี้ภาครัฐของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นมาก 
 

สหรัฐฯ-จีนแชมป์สร้างหนี้  IIF ชี้ ‘หนี้โลก’ พุ่งทะลุ 250 ล้านล้านดอลล์

ในจำนวนยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นหนี้สินของสหรัฐอเมริกาและจีนรวมๆกันมากกว่า 60% ส่วนหนี้ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือหนี้ประเทศกำลังพัฒนาที่เรียกว่า EM debt (Emerging Market debt) นั้นขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดเท่าที่เคยเป็นมาเช่นกันที่ 71.4 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือคิดเป็นสัดส่วน 220% ของจีดีพี) 

 

นักวิเคราะห์มองว่า ปัญหาหนี้สินกำลังสร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ส่งเสริมปัญหาดังกล่าวก็คือดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากเป็นประวัติการณ์ก็ทำให้ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐสามารถกู้ยืมและสร้างหนี้ได้ง่ายขึ้นมาก  อย่างไรก็ตาม รายงานของ IIF ตั้งข้อสังเกตว่า ระดับของหนี้สินภาครัฐที่สูงมากในบางประเทศ เช่น อิตาลีและเลบานอน ทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้มาตรการการเงินเชิงผ่อนคลายได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับอีกหลายๆประเทศ เช่น อาร์เจนติน่า บราซิล แอฟริกาใต้ และกรีซ ที่หนี้ภาครัฐกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากเหมือนที่เคยเป็นมา

 

รายงานของ IIF ฉบับนี้สอดคล้องกับรายงานของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ออกคำเตือนมาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ว่าหนี้ภาคเอกชนของโลกกำลังพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงจนน่ากังวลท่ามกลางบริบทที่ดอกเบี้ยอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก
 

 

หนี้พุ่งฉุดรั้งการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

IMF เตือนว่า เกือบ 40% ของหนี้ภาคเอกชนในรูปหุ้นกู้ (corporate debt) ในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ซึ่งมีมูลค่ารวมๆกันประมาณ 19 ล้านล้านดอลลาร์นั้น เป็นหนี้ที่มีความสุ่มเสี่ยงว่าจะประสบปัญหาไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนดเวลาท่ามกลางบริบทที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอการเติบโต

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของธนาคารกลางทั่วโลกต่อปัญหาหนี้สินที่ขยับสูงขึ้นดูจะยังมีความเชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมได้ โดยเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังออกมาแถลงการณ์ระบุว่า เขายังไม่เห็นสัญญาณใดๆที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจกำลังจะเผชิญภาวะฟองสบู่หรือมีภัยคุกคามจากปัญหาการขาดดุลที่สหรัฐฯมีอยู่นับล้านล้านดอลลาร์ หรือกล่าวโดยสรุปคือภาพรวมเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะที่ประคองให้แข็งแรงต่อไปได้   ซึ่งทัศนะดังกล่าวอาจจะย้อนแย้งหรือตรงข้ามกับข้อมูลในรายงานของ IIF ที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาหนี้ภาครัฐกำลังเพิ่มพูนขึ้นอย่างน่ากังวล โดยเฉพาะการสร้างหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯจะมีส่วนอย่างมากที่ทำให้หนี้ภาครัฐโดยรวมทั้งโลกของปีนี้ (2562) พุ่งแซงสถิติ 65.7 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2561 ไปแตะที่ระดับ 70 ล้านล้านดอลลาร์

 

รายงานของ IIF ยังระบุถึงตลาดพันธบัตรโลกที่มีส่วนทำให้ยอดหนี้สินทั่วโลกพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ในขณะนี้ โดยในช่วงกลางปี 2562 ตลาดพันธบัตรโลก (global bond market) ขยับมูลค่าขึ้นสู่ระดับ 115 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นการเพิ่มขึ้นจากที่เคยอยู่ในระดับเพียง 87 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อ 10 ปีที่แล้วหรือในปี 2552 การเติบโตดังกล่าวขับเคลื่อนโดยตลาดพันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีสัดส่วน 47% ของตลาดพันธบัตรทั้งหมดในภาพรวม (ขณะที่ 10 ปีที่แล้วมีสัดส่วนเพียง 40%) และเป็นการขับเคลื่อนอย่างมีพลังแรงจากตลาดพันธบัตรประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่มูลค่าพุ่งจาก 17 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2552 เป็นเกือบๆ 28 ล้านล้านดอลลาร์ในขณะนี้  นักวิเคราะห์ระบุว่า พันธบัตรรัฐบาลยังจะได้รับความนิยมจากนักลงทุนต่อไปในฐานะสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยในการลงทุนมากกว่า ท่ามกลางบริบทของความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ความไม่แน่นอนจากกรณีการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษ (เบร็กซิท) สงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งกระบวนการยื่นไม่ไว้วางใจและถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง