“เบื่อสอบ-เรียนแพง” เมื่อ "มหา’ลัย" ไม่ใช่คำตอบ

17 พ.ย. 2562 | 01:00 น.

คอลัมน์ หลังกล้องไซบีเรีย : “เบื่อสอบ-เรียนแพง” มหา’ลัยไม่ใช่คำตอบ เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์ ภาพ: RIA Novosti

    มหาวิทยาลัย... สำหรับเด็กวัยเรียน แค่คิดว่าจะรีบต้องค้นหาตัวเองพ่วงด้วยการอ่านหนังสือสอบอันโหดหินแข่งกับคนที่มีเป้าหมายเดียวกันแล้วก็น่าเหนื่อย ยิ่งสมัยนี้มีสอบยิบย่อยหลายอย่างให้ต้องเตรียมตัว ไม่ว่าจะเป็น O-NET, GAT, PAT หรือการสอบเฉพาะทางของต่างคณะต่างมหาวิทยาลัยอีก
    การสอบเข้ามหาวิทยาลัยคงเป็นยาขมสำหรับเด็กทั่วโลก ไม่เว้นแต่เด็กๆ ชาวรัสเซียที่ต้องปวดหัวกับการสอบเอ็นทรานซ์ของรัฐบาลรัสเซีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ  ЕГЭ (หรือ Unified State Exam ในภาษาอังกฤษ) เทียบได้กับข้อสอบ O-NET ของไทย เพื่อหวังนำคะแนนที่ดีไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัยในฝัน 
    รัฐบาลรัสเซียเพิ่งเริ่มการสอบ ЕГЭ มาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า หลังจากที่การสอบแบบใหม่เกิดขึ้น กลับเกิดปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่น่าจับตาในมุมหนึ่งของแวดวงการศึกษารัสเซีย นั่นคือจำนวนนักเรียนที่เลือกเรียนม.ปลายสายวิชาชีพเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ 
    โดยทั่วไปแล้ว เด็กชาวรัสเซียจะต้องผ่านการเรียนในโรงเรียนอย่างน้อย 9 ปี และเมื่อจบช่วงมัธยมแล้ว สามารถเปลี่ยนไปเลือกเรียนในโรงเรียนสายวิชาชีพได้ตามสนใจ คล้ายกับที่บ้านเรามีปวช. และปวส.
 

“เบื่อสอบ-เรียนแพง” เมื่อ "มหา’ลัย" ไม่ใช่คำตอบ

    ทว่าล่าสุดกระทรวงศึกษากลับออกมาเผยตัวเลขว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา นับแต่ปี 2556 ยอดผู้สนใจสมัครเข้าเรียนม.ปลายในสายอาชีพกลับเพิ่มขึ้นถึง 10% รวมแล้วราว 3 ล้านคนทั่วประเทศ และดูเหมือนว่าการสอบแบบใหม่ จะเป็นต้นเหตุของเทรนด์นี้เสียด้วย
    เด็กหลายคนยอมรับว่าพวกเขาไม่อยากสอบข้อสอบของรัฐบาลเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ระบบนี้เปลี่ยนชีวิตในรั้วโรงเรียนหลังเกรด 9 กลายเป็นการกวดวิชา โรงเรียนกลายเป็นสะพานเชื่อมส่งผู้เรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น พวกเขาจึงขอเลี่ยงไปเรียนม.ปลายสายอาชีพดีกว่า นอกจากจะจบแล้วเริ่มต้นทำงานหาเงินได้เร็วแล้ว ก็สามารถเติมโตในสายงานและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ไม่ต่างกัน ซ้ำบางแห่งยังมีโปรแกรมการเรียนหลักสูตรเร่งรัด เมื่อจบแล้วสามารถยื่นวุฒิข้ามขั้นเข้าเรียนมหาวิทยาลัยโดยที่ไม่ต้องสอบข้อสอบกลางได้เสียอีก
    การศึกษาพื้นฐานในรัสเซีย ไม่ว่าชนชั้นไหนก็เข้าถึงได้เพราะรัฐบาลรัสเซียจัดการเรียนการสอนให้ฟรี แต่ไม่ใช่กับการเรียนในมหาวิทยาลัย บางส่วนที่ตัดสินใจเลือกเรียนม.ปลายสายอาชีพ  เนื่องจากพวกเขาไม่มีเงินมากพอที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้
 

“เบื่อสอบ-เรียนแพง” เมื่อ "มหา’ลัย" ไม่ใช่คำตอบ

    ความจริงแล้ว มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในรัสเซียที่นั่งเรียนฟรีพร้อมทุนการศึกษาให้ราว 1 ใน 3 ของจำนวนนักเรียนที่รับทั้งหมดในแต่ละปี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะคว้าโอกาสนี้ได้ ส่วนคนที่พลาด ก็ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนตามปกติ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 หมื่นบาทต่อเทอม ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในประเทศที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ทำให้ไม่มีกองทุนช่วยเหลือทางการศึกษาเข้าถึงนักเรียนในเมืองเล็กๆ หรือในหมู่บ้านที่ห่างไกล การได้รีบเรียนจบและรีบทำงานอาจเป็นโอกาสที่ดีกว่าการลงทุนทางการศึกษาด้วยการนั่งอ่านหนังสือสอบ หวังใบปริญญาเป็นใบเบิกทางในภายภาคหน้า
    จากการสำรวจกลุ่มคนอายุ 23-29 ปี ที่ผ่านการเรียนในโรงเรียนสายอาชีพ พบว่าสายการเรียนที่เป็นที่นิยม 3 อันดับแรกในปีหลังมานี้ คือสายการเรียนด้านการบริการ ด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน ต่างจากเทรนด์การเรียนของคนยุคก่อนการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่นิยมเรียนด้านการค้าขาย และการก่อสร้างและการบำรุงกันเสียมากกว่า

    มองย้อนกลับมาที่การศึกษาบ้านเรา น่าคิดว่าเมื่อกระแสโลกเปลี่ยนไป ระบบการสอบ-การเรียนแบบติวเข้มกวดแข่งขันในรูปแบบเดิม รวมถึงการไขว่คว้าใบปริญญาจะยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตและสภาพตลาดแรงงานได้ดีอยู่เช่นเดิมหรือไม่? แล้วจะมีทางเลือกใหม่อะไรเข้ามาเปลี่ยนเทรนด์ระบบการศึกษาของเราในอนาคตได้อีกบ้าง?