FDI ในจีนยังขยายตัวต่อเนื่อง บ.อเมริกันดาหน้าขยายการลงทุน

16 พ.ย. 2562 | 10:25 น.

สถิติชี้ว่าการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) ในจีนยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว นี่เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นแม้ว่าสถานการณ์การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจะไม่ได้คลี่คลายลงไปมากนัก และแม้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะยังคงข่มขู่คุกคามจีนอย่างต่อเนื่องและขอให้บริษัทเอกชนอเมริกันถอนการลงทุนออกมาจากจีน

 

ถึงแม้สงครามการค้าจะทำให้บริษัทเอกชนจำนวนมากหันมาพิจารณาทบทวนแผนการลงทุน และจำนวนไม่น้อยได้ประกาศโยกย้ายการลงทุนออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ จีนยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่ยากจะถอนใจจากไปง่ายๆ ผู้บริโภค 1.4 พันล้านคนที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดใจที่ยากจะมองข้าม

บริษัทอเมริกันตบเท้าเข้าลงทุน

บริษัทข้ามชาติที่มุ่งหวังช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในจีนยังคงมุ่งหน้าเข้ามาลงทุนโครงการใหญ่ๆ และหลายบริษัทที่เข้ามาปักหลักอยู่แล้ว ก็ยังคงเดินหน้าแผนขยายการลงทุนในจีนต่อไป ซึ่งนั่นรวมถึงบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่าง “เทสล่า” ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและนวัตกรรมด้านพลังงาน และ “วอลมาร์ต” ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ประเทศอื่นๆ ที่มีการลงทุนในจีนอย่างต่อเนื่องยังได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และยุโรป

FDI ในจีนยังขยายตัวต่อเนื่อง บ.อเมริกันดาหน้าขยายการลงทุน

สถิติของกระทรวงพาณิชย์จีนชี้ว่า การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) ในจีนเพิ่มขึ้นเกือบๆ 3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มในอัตราไล่เลี่ยกับช่วงเดียวกันของปี 2561 นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า แนวโน้มการลงทุนของต่างชาติยังคงจะหลั่งไหลมายังจีนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในจีนเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคชาวจีนจะทำให้ผู้ประกอบการก้าวข้ามอุปสรรคที่เป็นกำแพงการค้าไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนยังคงมีอยู่ และกำแพงภาษีก็ถูกขยับสูงขึ้น การสงบศึกการค้าก็ดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วคราวมากกว่าที่จะยุติลงจริงๆ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรเป็นหลักประกันที่ดีมากไปกว่าการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในตลาดเป้าหมาย

 

ทั้งนี้ เกือบๆ 75% ของการลงทุนต่างชาติในจีน ณ ช่วงเวลานี้ เป็นการลงทุนในธุรกิจภาคบริการ ซึ่งรวมทั้งบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และธุรกิจอื่นๆที่มุ่งเน้นลูกค้าในตลาดประเทศจีนเป็นหลัก สำหรับบริษัทที่พุ่งเป้าตลาดจีนนั้น การได้เข้ามาปักหลักหรือยึดหัวหาดการผลิตในจีนถือเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำมากยิ่งขึ้นท่ามกลางบริบทของสงครามการค้า ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความตั้งใจของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่พยายามป่าวประกาศให้เอกชนอเมริกันถอนยวงการลงทุนออกมาจากประเทศจีน

 

ในบรรดาบริษัทอเมริกันที่เพิ่งประกาศแผนการลงทุนในจีนเมื่อเร็วๆนี้ ได้แก่ บริษัท จีอี รีนิววะเบิล อีเนอร์จีฯ ในเครือบริษัท จีอีฯ ที่ประกาศการลงทุนในโครงการวินด์ฟาร์ม (การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม) นอกชายฝั่งทะเลของจีนและจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการและพัฒนาธุรกิจขึ้นที่นั่นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่บริษัทไม่ได้เปิดเผยมูลค่าตัวเลขการลงทุน นอกจากนั้นในเวลาไล่เลี่ยกัน บริษัท 

 

วอลมาร์ตฯ ยักษ์ใหญ่ค้าปลีก ก็ออกแถลงการณ์ว่าจะลงทุน 8,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างศูนย์กระจายสินค้าหลายแห่งในประเทศจีน ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนมกราคม บริษัท บีเอเอสเอฟฯ ได้ลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลกวางตุ้ง ในการจัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ โดยบีเอเอสเอฟได้รับสิทธิประโยชน์ในการได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของโครงการ 100% ไม่ต้องร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่นของจีนด้วย

 

นายเคอร์ กิบส์ ประธานหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ ให้ความเห็นว่า บริษัทอเมริกันที่เข้ามาลงทุนได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรัฐบาลจีน “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับท้องถิ่นและในต่างจังหวัดของจีน พวกเขากระตือรือร้นในการเชิญชวนให้พวกเราเข้าไปลงทุนกัน” เรื่องนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นของ นายปาสคาล โซริออต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอสตราเซเนกาฯ ผู้ผลิตยารายใหญ่ที่มองว่า ด้วยขนาดของตลาดและจำนวนผู้บริโภคกว่าพันล้านคน ทำให้จีนเป็นแหล่งลงทุนที่ไม่อาจละเลย “ในทางตรงข้าม เราจำเป็นต้องลงทุนในจีนให้มากยิ่งขึ้น”

 

ดึงต่างชาติผุดคลัสเตอร์ยานยนต์ไฟฟ้า

กระแสความนิยมใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนายานยนต์แห่งอนาคตซึ่งครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำยันปลายน้ำ การเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท เทสล่า ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ช่วยยืนยันศักยภาพและความสำคัญของตลาดจีนในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

โรงงานของเทสล่าชานเมืองเซี่ยงไฮ้

โรงงานของเทสล่าชานเมืองเซี่ยงไฮ้เป็นโรงงานผลิตแห่งแรกของบริษัทที่ตั้งอยู่นอกประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จีนเองอ้าแขนต้อนรับอย่างอบอุ่น เทสล่าได้รับความสนับสนุนในรูปเงินกู้จากธนาคารของจีนถึง 521 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 15,630 ล้านบาท โรงงานแห่งนี้ไม่เพียงสร้างงานในพื้นที่ แต่ยังดึงดูดให้โรงงานของผู้ประกอบการรายอื่นๆในซัพพลายเชนเข้ามาลงทุนในจีนด้วยเช่นกัน อาทิ โครงการลงทุนของ บริษัท แอลจี เคม จำกัด (LG Chem Ltd.) จากเกาหลีใต้ ผู้ผลิตเซลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนรายใหญ่อันดับสองของโลก และเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ที่ผลิตแบตเตอรี่ขุมพลังงานให้กับรถเทสล่ารุ่นโมเดล3 ที่จะผลิตในประเทศจีน

 

แอลจี เคม ประกาศเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทมีแผนจะลงทุนประมาณ 430 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการในประเทศจีน ก่อนหน้านั้นในเดือนมิถุนายน บริษัทก็เพิ่งจับมือร่วมลงทุนกับบริษัท จีลี่ ออโตโมบิล โฮลดิ้งส์ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า นายยู วอน แจ โฆษกของแอลจี เคม เปิดเผยว่า ณ ช่วงเวลานี้ จีนคือจุดศูนย์กลางของโลกในการลงทุนด้านแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า    

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3523 ระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน 2562