สงครามชิงเจ้าน่านฟ้า  แอร์บัสซบ ‘จีน’ โบอิ้งชิ่งไป ‘อินเดีย’

12 พ.ย. 2562 | 11:34 น.

 

แอร์บัส และโบอิ้ง บริษัทผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำจากยุโรปและอเมริกา ต่างมีฐานการผลิตอยู่ในประเทศแถบเอเชียที่ได้ชื่อว่ามีการขยายตัวของการสัญจรทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากที่สุดในโลก และปัจจุบันทั้งคู่ก็กำลังเพิ่มบทบาทในน่านฟ้าของภูมิภาคแห่งนี้อย่างที่ไม่มีใครยอมใคร  

 

ล่าสุดกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แอร์บัสเพิ่งลงนามทำข้อตกลงฉบับใหม่กับจีนเพื่อขยายเพิ่มขอบเขตความร่วมมือ และเพิ่ม ‘จำนวน’ รวมทั้ง ‘ประเภท’ ของเครื่องบินที่จะผลิตในประเทศจีน ขณะที่โบอิ้ง หันไปขยายความร่วมมือกับอินเดียจากเดิมที่มีโรงงานผลิตอยู่แล้ว โบอิ้งอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเซ็นสัญญาทำข้อตกลงกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศอินเดีย หรือ เอเอไอ รับเป็นผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการการจราจรทางอากาศ ช่วยอินเดียรับมือกับปัญหาน่านฟ้าที่แออัดอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สงครามชิงเจ้าน่านฟ้า  แอร์บัสซบ ‘จีน’ โบอิ้งชิ่งไป ‘อินเดีย’

แอร์บัส: เพิ่มกำลังผลิตโรงงานอากาศยานเทียนจิน

นายกิลโยม โฟว์รี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอร์บัส ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ นายเหอ ลี่เฝิง ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (NDRC) เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งนำคณะนักธุรกิจฝรั่งเศสเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ CIIE ครั้งที่ 2 ที่มหานครเซี่ยงไฮ้ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม  
 

 

ในเอกสาร MOU ดังกล่าว แอร์บัสแสดงความประสงค์ที่จะเพิ่มการผลิตเครื่องบินลำตัวแคบแบบมีช่องทางเดินเดียว (single-aisle) และเครื่องบินลำตัวกว้าง (widebody aircraft) ที่โรงงานในประเทศจีนจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทต้องการที่จะผลิตเครื่องบินลำตัวแคบมีช่องทางเดินเดียวแบบเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 63 ลำภายในปี 2021 (พ.ศ. 2564) ซึ่งในการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ บริษัทต้องขยายกำลังการผลิตของโรงงานแอร์บัสที่ตั้งอยู่ในเมืองเทียนจินภายในปีนี้ จากเดิมที่ผลิตได้ 3 ลำต่อเดือนให้เป็น 6 ลำต่อเดือน

 

แอร์บัสเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่เปิดโรงงานในเมืองเทียนจินเมื่อปี 2551 เป็นต้นมา ได้มีการผลิตเครื่องบินแอร์บัสตระกูล A320 ที่โรงงานแห่งนี้ไปแล้วจำนวนรวม 450 ลำ โรงงานดังกล่าวอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งเมืองหลวงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 144.8 กิโลเมตร      

สงครามชิงเจ้าน่านฟ้า  แอร์บัสซบ ‘จีน’ โบอิ้งชิ่งไป ‘อินเดีย’

ในส่วนของแผนการผลิตเครื่องบินลำตัวกว้างนั้น แอร์บัสได้เปิดศูนย์ประกอบและส่งมอบ (C&DC) เครื่องบินลำตัวกว้างที่โรงงานเมืองเทียนจินในปี 2560 มีการผลิตเครื่องบินตระกูล A330 ซึ่งเป็นเครื่องบินระยะทางไกล ที่ศูนย์แห่งนี้แอร์บัสใช้ประกอบห้องโดยสาร ทาสีลำตัวเครื่องบิน และทดสอบการบินเครื่องบิน A330 แต่ในอนาคต บริษัทมีแผนประกอบเครื่องบินลำตัวกว้าง A350 ที่โรงงานแห่งนี้ โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบลำแรกได้ในปี 2564

 

ซีอีโอของแอร์บัสย้ำว่า แผนยุทธศาสตร์สร้างความเติบโตระยะยาวของธุรกิจแอร์บัสนั้นให้ความสำคัญอย่างมากกับประเทศจีนและอุตสาหกรรมการบินของจีน ทั้งนี้ คาดหมายว่า จีนจะเป็นตลาดการบินภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันประเทศที่ครองตำแหน่งดังกล่าวอยู่คือสหรัฐอเมริกา แอร์บัสคาดหมายว่า ภายใน 20 ปีข้างหน้า ประเทศจีนจะมีความต้องการเครื่องบินพาณิชย์ผลิตใหม่จำนวนมากถึง 7,560 ลำ จึงเป็นตลาดสำคัญอันดับต้น และภายหลังการประกาศการเซ็น MOU ราคาหุ้นของแอร์บัสก็ขยับสูงขึ้นประมาณ 0.33%

 

สงครามชิงเจ้าน่านฟ้า  แอร์บัสซบ ‘จีน’ โบอิ้งชิ่งไป ‘อินเดีย’

โบอิ้ง: จับมืออินเดียทำโร้ดแม็ป 10 ปีพัฒนาบริการขนส่งทางอากาศ

ด้านบริษัท โบอิ้ง คู่แข่งสำคัญจากสหรัฐอเมริกา ผู้บริหารของบริษัทให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ สื่อใหญ่ของสหรัฐฯวันเดียวกันกับที่แอร์บัสประกาศข่าวเซ็น MOU กับจีนว่า บริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดอินเดีย ซึ่งเป็นอีกขุมพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย

 

จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไอเอทีเอ) ซึ่งคาดการณ์แนวโน้มการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคเอเชียพบว่า ปัจจุบัน อินเดียเป็นตลาดการบินภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯและจีน ตามลำดับ แต่คาดว่าภายในปี 2022 (พ.ศ. 2565) อินเดียจะแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 เป็นรองก็แต่เพียงประเทศจีนเท่านั้น    

 

นอกจากนี้ โบอิ้งเองยังคาดการณ์ว่า ภายใน 20 ปีข้างหน้า อินเดียจะมีความต้องการเครื่องบินพาณิชย์ลำใหม่จำนวน 2,380 ลำ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่บริษัทเคยคาดการณ์ไว้เดิม  ปัจจุบัน โบอิ้งมีโรงงานผลิตอยู่ในประเทศอินเดียอยู่แล้ว มีพนักงานจำนวน 2,200 คน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โบอิ้งเพิ่งลงนามทำสัญญากับการท่าอากาศยานแห่งประเทศอินเดีย (เอเอไอ) โดยโบอิ้งจะช่วยเอเอไอพัฒนาระบบใหม่สำหรับการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศให้กับอินเดียที่กำลังเผชิญภาวะน่านฟ้าที่แน่นขนัดมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ระบบใหม่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์พัฒนาบริการด้านการบินของอินเดียให้ทันสมัย ถือเป็นโร้ดแม็ปใหม่ที่จะใช้ในระยะ 10 ปีข้างหน้า