สู่ยุคมืดออนไลน์รัสเซีย ซ้ำรอย “ไชน่าโมเดล”

10 พ.ย. 2562 | 00:50 น.

 

คอลัมน์ หลังกล้องไซบีเรีย: สู่ยุคมืดออนไลน์รัสเซีย ซ้ำรอย “ไชน่าโมเดล”
เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์

    เมื่อต้นปีที่ผ่านมาข่าวคราวของรัฐบาลรัสเซียที่เดินหน้าคลอดกฎหมายตัดขาดระบบอินเทอร์เน็ตจากโลกภายนอกป้องกันการแทรงแซงจากต่างชาติ หันมาใช้ระบบควบคุมจากภายในแผ่กระจายไปทั่วโลกรวมทั้งในสื่อไทย ท่ามกลางความหวั่นใจว่ารัสเซียกำลังเดินหน้าสู่จีนหรือเกาหลีเหนือโมเดล พร้อมกับภาพการรวมตัวประท้วง และกระแสความไม่พอใจของประชาชน
    เวลาล่วงเลยมาถึงวันนี้ ชาวรัสเซียหลายคนยังไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำว่าสิ่งที่พวกเขาหวาดกลัวได้มาเยือนถึงบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้วอย่างเงียบๆ
    หลังจากการต่อสู้ทางระหว่างเสรีภาพบนโลกออนไลน์กับแนวคิดการเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐบาล สู่การลงนามของประธานาธิบดีปูตินรับกฎหมายที่ปูทางให้อำนาจรัฐบาลควบคุมอินเทอร์เน็ตเสร็จสรรพเมื่อเดือนพฤษภาคม จนมาถึงวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

สู่ยุคมืดออนไลน์รัสเซีย ซ้ำรอย “ไชน่าโมเดล”

 

    ทว่าเรื่องราวกลับเงียบสงัด เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ฝั่งสำนักข่าวรัฐบาลรัสเซียเก็บตัวเงียบไม่ปรากฏข่าวความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้อง ขณะที่สำนักข่าวอื่นๆ ก็กระตุ้นกระแสกลับมาไม่ได้มากนัก เสมือนว่าผู้คนลืมเลือนเรื่องราวนี้ไปเสียแล้ว
    ข้อมูลในขณะนี้ที่หลายสำนักกล่าวตรงกันคือ ณ วันนี้ รัฐบาลรัสเซียยังไม่ได้ลงมือจัดการตัดขาดอินเทอร์เน็ตจริง แม้จะมีข่าวลือมาเรื่อยๆ ว่าเจ้าหน้าที่แอบไปทดลองระบบตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่นในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งตอนกลางของประเทศ
    สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ในช่วงระยะการเปลี่ยนผ่าน คือรัฐบาลจะส่งอุปกรณ์ไปให้บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตติดตั้ง ค่อยๆ ถ่ายโอนให้ผู้ใช้งานเข้ามาอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ที่ลงทะเบียนและตั้งอยู่ในรัสเซียเท่านั้น ให้การใช้งานลื่นไหลในช่วงที่ตัดขาดจากระบบโลกจริง
    “คนทั่วไปจะไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ” หัวหน้าคณะกรรมาธิการด้านงานไอทีในสภาดูมาเคยกล่าวไว้ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานจะไม่สูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลจะแบกรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่
    นี่คือจุดที่น่ากลัวสำหรับชาวรัสเซียเลยทีเดียว เพราะพวกเขาอาจไม่ได้รับรู้ว่าสิ่งที่เขาใช้งานอยู่นั้น เปลี่ยนไปเมื่อไหร่ และอย่างไร
    จากการจัดอันดับล่าสุดของ Freedom House เกี่ยวกับอิสรภาพบนโลกออนไลน์ รัสเซียแทบจะอยู่ท้ายตารางในอันดับที่ 51 จาก 65 ประเทศ ต่ำว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างเมียนมาเสียด้วยซ้ำ กฎหมายฉบับนี้ถ้าเดินเครื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพก็น่าจะฉุดรั้งความหวังต่อการสื่อสารอย่างเสรีบนโลกออนไลน์ของคนในประเทศลงไปอีก ลิสต์รายชื่อเวปไซต์และแอปพลิเคชั่นที่โดนแบน นับวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจระหว่างประเทศหลายบริษัทก็เริ่มมีข่าวคราวการถอดทุนและย้ายฐานออกจากรัสเซียกันให้เห็น ไม่รู้ว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากน้อยเพียงไร
     สู่ยุคมืดออนไลน์รัสเซีย ซ้ำรอย “ไชน่าโมเดล”

   

    จากการพูดคุยกับชาวรัสเซียหลายคน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นถึงวัยกลางคน เกือบทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับการปิดกั้นนี้ พวกเขารู้สึกอึดอัดที่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวทุกครั้งในการเข้าถึงโครงข่ายออนไลน์ และเชื่อว่าทุกย่างก้าวบนโลกออนไลน์ถูกจับตาโดยทางการจริง
    ทุกวันนี้บรรดาโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ไม่ยินยอมส่งฐานข้อมูลผู้ใช้ให้ทางการรัสเซียจะถูกขึ้นบัญชีดำ เช่นไลน์ เป็นต้น แม้ว่ายังไม่ถึงขั้นที่ชาวรัสเซียจะต้องหันมาใช้แอปพลิเคชันเฉพาะแบบจีนที่มี WeChat หรือ Weibo แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าข้อมูลทุกอย่างผ่านหูผ่านตาเจ้าหน้าที่มาแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย
    นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น และยังไม่มีใครแน่ใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกนำไปใช้ถึงจุดใด

สู่ยุคมืดออนไลน์รัสเซีย ซ้ำรอย “ไชน่าโมเดล”