เตรียมตัวเสียภาษี! ข้อมูลดีๆ รู้ไว้ก่อนไปทำงานที่ไต้หวัน

11 พ.ย. 2562 | 06:35 น.

คอลัมน์ชี้ช่องจากทีมทูต 

ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย

 

ปัจจุบันไต้หวันไม่เพียงเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากคนไทย แต่ยังถือเป็นตัวเลือกประเทศแรกๆ สำหรับคนไทยต้องการทำงานในต่างแดน สะท้อนจากสถิติของกรมการจัดหางาน กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ที่ชี้ว่า จากจำนวนแรงงานไทยในต่างประเทศในเดือนกันยายน 2562 ทั้งหมด 156,822 คน มีจำนวนมากถึง 69,956 คนที่ทำงานในไต้หวัน ถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียและเอเชียใต้

 

แม้ว่าการทำงานต่างประเทศจะมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง อาทิ การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ หรือการพบคนต่างชาติต่างภาษา แต่มีหนึ่งปัจจัยสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่หลายๆ คนมักมองข้าม นั่นก็คือ เรื่องภาษีเงินได้ ถึงแม้บางบริษัทจะมีคนช่วยจัดการ แต่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีทุกคนก็ควรศึกษาหาข้อมูลไว้เพื่อรักษาประโยชน์ของตนเอง

 

คนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ จะต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศที่เข้าไปทำงาน ซึ่งหลักใหญ่ๆ จะต้องทราบว่าประเทศที่เข้าไปทำงานนั้นกำหนดการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาจากฐานเงินได้ของบุคคลดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั่วโลก หรือเฉพาะฐานเงินได้ที่เกิดในประเทศของผู้จัดเก็บภาษีเท่านั้น รวมถึงอัตราภาษีที่แต่ละประเทศเป็นคนกำหนดด้วย

 

ไต้หวันกำหนดให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในไต้หวันตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามอัตราที่กำหนด โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ตลอดปี 2562 และดำเนินการจ่ายหรือขอคืนภาษีระหว่างวันที่ 1 - 30 พฤษภาคม 2563 โดยผู้ที่อยู่ในประเทศเกินกว่า 90 วัน แต่น้อยกว่า 183 วัน จะถือว่าเป็นผู้เสียภาษีในประเภท non-resident โดยเมื่อปี 2561 ไต้หวันได้กำหนดให้เสียภาษีที่อัตรา 18% โดยจะต้องเสียภาษีในส่วนของรายได้จากทั้งในและนอกไต้หวันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจในประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม รายได้จากแหล่งรายได้นอกไต้หวันดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีหากได้รับการระบุให้ยกเว้นภาษีในสนธิสัญญาหรือกฎหมายภายในของไต้หวันที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้ที่อยู่ในไต้หวันเกินกว่า 183 วันขึ้นไป จะถือเป็นผู้เสียภาษีในประเภท resident ซึ่งรายได้ทั้งหมดในไต้หวันจะต้องหักภาษี และบุคคลดังกล่าวต้องนำรายได้ที่ได้มาจากต่างประเทศคำนวณรวมกับรายได้ไต้หวันด้วย โดยในแต่ละปีจะต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราขั้นบันไดตั้งแต่ 5-40% ที่กำหนด ดังนี้ (1) ผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 0-540,000 ดอลลาร์ไต้หวัน (NTD) ต้องเสียภาษีที่ 5% (2) ผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 540,000-1,210,000 NTD ต้องเสียภาษีที่ 12% (3) ผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 1,210,000-2,420,000 NTD ต้องเสียภาษีที่ 20% (4) ผู้ที่มีรายได้ระหว่าง 2,420,000-4,530,000 NTD ต้องเสียภาษีที่ 30% และ (5) ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 4,530,000 NTD ขึ้นไป ต้องเสียภาษีที่ 40%

เตรียมตัวเสียภาษี! ข้อมูลดีๆ รู้ไว้ก่อนไปทำงานที่ไต้หวัน

ส่วนภาษีสำหรับในกรณีของหุ้นนั้น จะถือว่าเป็นรายได้อื่นๆ ที่จะต้องหักภาษีด้วย อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีดังกล่าวจะจำกัดเฉพาะบุคคลต่างชาติในไต้หวันเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ที่ต้องเสียภาษีเองก็ยังสามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ในการที่จะได้รับการยกเว้นลดหย่อนและลดหย่อนพิเศษ ซึ่งเงินได้ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเหล่านี้มีอยู่หลายกรณีที่สำคัญ ดังเกณฑ์ต่อไปนี้

 

1. กรณีเงินที่ได้รับการยกเว้น ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้จำนวน 88,000 NTD หากผู้เสียภาษีมีคู่สมรสหรือบุคคลที่อยู่ในอุปการะ จะได้สิทธิลดหย่อนเพิ่มอีกคนละ 88,000 NTD (แต่หากมีคู่สมรสหรือบุพการีอายุเกิน 70 ปี จะสามารถลดหย่อนได้ถึง 132,000 NTD)

 

2. กรณีค่าลดหย่อน บุคคลสถานะโสดได้รับค่าลดหย่อนตามมาตรฐานคนละ 120,000 NTD และสถานะสมรสได้รับค่าลดหย่อนตามมาตรฐาน 240,000 NTD (ถึงแม้ว่าจะมีเพียงคนใดคนหนึ่งมีรายได้ก็ตาม) โดยมีค่าลดหย่อนตามรายการ ได้แก่ (1) เงินบริจาค หักได้สูงสุดไม่เกิน 20% ของรายได้ (2) เบี้ยประกัน สูงสุด 24,000 NTD ต่อคน (3) ค่ารักษาพยาบาลและค่าคลอดบุตร ไม่จำกัดตามเงื่อนไข (4) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับที่อยู่อาศัย สูงสุด 300,000 NTD (5) ความเสียหายจากภัยพิบัติ แต่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะไม่ได้สิทธิลดหย่อน หากได้รับการเยียวยาจากประกันแล้ว และ (6) ค่าเช่าที่อยู่อาศัย สูงสุด 120,000 NTD

 

นอกจากนี้ ยังมีค่าลดหย่อนพิเศษ ได้แก่ (1) เงินขาดทุนจากการโอนทรัพย์สิน (Property Transaction Losses) จะสามารถลดหย่อนได้ช่วงเวลา 3 ปี (2) รายได้หรือเงินเดือน สามารถเรียกร้องได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 NTD (3) เงินออมและเงินลงทุน 270,000 NTD (4) ผู้ทุพพลภาพ/อุปการะผู้ทุพพลภาพ 200,000 NTD ต่อคน (5) ค่าเล่าเรียนบุตร 25,000 NTD ต่อคน ตามเงื่อนไข และ (6) บุตรก่อนวัยเรียน 120,000 NTD ต่อคน

 

ทั้งนี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิระหว่างค่าลดหย่อนมาตรฐานกับค่าลดหย่อนตามรายการอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น และหากผู้มีถิ่นพำนักในไต้หวันมีความตั้งใจจะออกเดินทางและจะไม่กลับภายในปีเดียวกัน จำนวนเงินที่ได้รับ การยกเว้น การลดหย่อนมาตรฐาน และค่าครองชีพขั้นพื้นฐาน จะคำนวณตามสัดส่วนของจำนวนวันทั้งหมดที่พำนักอยู่ในไต้หวัน โดยที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องยื่นแบบฟอร์มเงินได้และชำระภาษี ก่อนเดินทาง 7 วัน และสรรพากรท้องที่จะคืนเงินภาษีส่วนที่จ่ายเกินให้เป็นเช็คหลังจากการยื่นแบบฟอร์มแล้ว 4 เดือน

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3521 ระหว่างวันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน 2562