IMF เตือนโลกรับมือศก.ชะลอแรงสุดในรอบ 10 ปี

10 ต.ค. 2562 | 08:16 น.

นางคริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรียกร้องให้ทั้งโลกมีความเป็นเอกภาพเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจโลกปี 2562 จะขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

ในปี 2562 นี้เราจะได้เห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในเกือบๆ 90% ของประเทศต่างๆทั่วโลก การชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียงทั่วหน้านี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ” ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงทั้งปีนี้และปีหน้า จากเดิมที่เคยคาดไว้ว่า จีดีพีโลกจะขยายตัวที่อัตรา 3.2% และ 3.5% ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ  แต่รายละเอียดว่าจะปรับลดลงเหลือเท่าใดนั้นจะมีการเปิดเผยใน รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดที่มีกำหนดเผยแพร่วันที่ 15 ต.ค. นี้  


 

IMF เตือนโลกรับมือศก.ชะลอแรงสุดในรอบ 10 ปี

กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ แถลงเมื่อวันที่ 8 ต.ค. เรียกร้องให้ทุกประเทศ มีความเป็นเอกภาพ เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ที่มีสาเหตุหลักจากสงครามการค้าที่ทำให้การค้าโลกเกิดภาวะชะงักงัน  นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังประเมินว่า สงครามการค้าจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่ากับ 0.8% ของจีดีพีโลก ซึ่งรุนแรงกว่าที่ไอเอ็มเอฟเคยประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้

 

ผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้า อาทิ การสูญเสียความเชื่อมั่น และการตอบสนองในตลาดการเงิน มีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว  และจะส่งผลรุนแรงกว่าผลกระทบทางตรงจากการขึ้นกำแพงภาษีของประเทศคู่พิพาท  นอกจากนี้  สงครามการค้ายังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะส่งผลต่อเนื่องในระยะยาวหลายชั่วอายุคน อาทิ การเปลี่ยนแปลงด้านห่วงโซ่อุปทาน  

 

“ผลลัพธ์ปรากฏชัดเจนแล้วว่า ไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า” นางจอร์จีวายังเตือนว่า การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นระยะเวลานานจะทำให้นักลงทุนมีพฤติกรรมการลงทุนที่เสี่ยงมากขึ้น

 

สำหรับมาตรการรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไอเอ็มเอฟแนะนำนั้น ส่วนหนึ่งคือการใช้กลไกทางการคลัง เช่นการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยนางคริสตาลินายอมรับว่า ในปัจจุบัน รัฐบาลหลายประเทศประสบปัญหาหนี้สาธารณะสูงมากอยู่แล้ว แต่กรณีของประเทศที่ภาระหนี้ยังไม่สูงมาก  เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ สามารถใช้งบประมาณมากขึ้นในโครงการสาธารณูโภคพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้