IMF จ่อลดคาดการณ์เติบโต หนุนความร่วมมือกระตุ้นเศรษฐกิจ

17 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
ไอเอ็มเอฟส่งสัญญาณอาจมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2559 ลงอีกครั้งในเดือนหน้า สอดคล้องกับดัชนีเศรษฐกิจของโออีซีดีที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงในช่วงต่อจากนี้

นายโฮเซ วินาลส์ ที่ปรึกษาด้านการเงินและผู้อำนวยการฝ่ายตลาดเงินและตลาดทุนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ กล่าวในสัปดาห์นี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ไอเอ็มเอฟจะมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงอีกครั้งในการประชุมช่วงฤดูใบไม้ผลิในเดือนเมษายน หลังจากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตลงไปแล้วจากตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน

ทั้งนี้ ในรายงานเดือนมกราคม ไอเอ็มเอฟคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 3.4% ในปี 2559 และ 3.6% ในปี 2560

ความเห็นของนายวินาลส์สอดคล้องกับคำกล่าวของนางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ ที่ออกมากล่าวเตือนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอาจสะดุดลงถ้าผู้ออกกฎหมายของประเทศต่างๆ ไม่ประสานความร่วมมือกัน "การไม่ลงมือทำอะไรจะส่งผลเสียหายต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก" นายวินาลส์ กล่าว

ขณะที่ในสัปดาห์เดียวกันนี้ นายเดวิด ลิปตัน รองผู้อำนวยการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ กล่าวปาฐกถาในงานของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เตือนว่า เศรษฐกิจโลกอยู่ในจุดที่เปราะบาง โดยสัญญาณบ่งชี้ที่น่ากังวล คือการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการค้าที่ลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา

นายลิปตัน กล่าวว่า ความต้องการที่อ่อนแอเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ในเวลาที่ขอบเขตของการใช้นโยบายการเงินกระตุ้นความต้องการภายในประเทศอยู่ในระดับที่จำกัด ดังนั้นประเทศต่างๆ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาจะต้องร่วมมือกันเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ

"สิ่งที่จำเป็นคือการใช้แนวทางแก้ปัญหา 3 ทาง ผ่านนโยบายการเงินและการคลัง ตลอดจนการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น" นายลิปตันกล่าว

มุมมองของเจ้าหน้าที่ทางการไอเอ็มเอฟเป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจล่าสุดซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี เปิดเผยออกมาในสัปดาห์นี้ โดยชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวลง

โออีซีดีทำการประเมินแนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตโดยอาศัยข้อมูลจากเดือนมกราคม พบว่า การเติบโตของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา และญี่ปุ่น ยังมีแนวโน้มชะลอตัว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจของเยอรมนีที่เริ่มมีสัญญาณการเติบโตชะลอตัวลงเช่นกัน ขณะที่การเติบโตในอิตาลีและยูโรโซนมีสัญญาณคงที่ ฝรั่งเศส และอินเดียอยู่ในภาวะที่มีเสถียรภาพเช่นเดียวกับจีน ส่วนรัสเซียและบราซิลนั้นมีแนวโน้มสูญเสียโมเมนตัมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ดัชนีของโออีซีดีถูกออกแบบมาเพื่อเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่แสดงถึงจุดเปลี่ยนระหว่างการขยายตัวและชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเป็นการคำนวณจากข้อมูลหลากหลายส่วนที่ในอดีตที่ผ่านมาสามารถใช้ชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559