ยุโรป-แคนาดาหวังใช้เอฟทีเอปีหน้า ปูทางสู่ข้อตกลงการค้ากับมะกัน

05 มี.ค. 2559 | 05:00 น.
ยุโรปบรรลุข้อตกลงแก้ไขกฎการปกป้องการลงทุนของบริษัทเอกชนในข้อตกลงการค้าเสรีกับแคนาดาที่ตั้งเป้าใช้งานในปีหน้า หวังใช้เป็นรูปแบบการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ต่อไป

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หลังจากการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) และแคนาดาเสร็จสิ้นลงตั้งแต่ปี 2557 แต่ข้อตกลงขั้นสุดท้ายต้องถูกเลื่อนออกไปหลังจากรัฐบาลบางประเทศยุโรปคัดค้านข้อกำหนดในเรื่องของการปกป้องนักลงทุนที่เรียกว่า Investor-State Dispute Settlement ที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติยื่นฟ้องรัฐบาลท้องถิ่นกับศาลที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้เกิดความกังวลว่าบริษัทเอกชนจะใช้กระบวนการดังกล่าวป้องกันไม่ให้รัฐบาลออกกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ในข้อตกลงล่าสุดมีการปรับเปลี่ยนกฎให้ชัดเจนขึ้นว่ากฎดังกล่าวไม่ลิดรอนสิทธิของรัฐบาลในการออกกฎหมาย พร้อมกับตั้งศาลถาวรขึ้นมาตัดสินข้อขัดแย้งในเรื่องการลงทุน โดยผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้งจากคู่ค้าสองฝ่าย และศาลอีกแห่งหนึ่งสำหรับอุทธรณ์

เจ้าหน้าที่ทางการยุโรปหวังว่าข้อตกลงในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบให้กับข้อตกลงการค้าเสรีที่กำลังเจรจากับสหรัฐฯ ภายใต้ชื่อ Transatlantic Trade and Investment Partnership หรือ TTIP ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องการหาข้อสรุปให้ได้ก่อนประธานาธิบดี บารัก โอบามา จะหมดวาระ หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน

ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างยุโรปและแคนาดาเป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมมากกว่าข้อตกลงการค้าในอดีตที่ผ่านมา โดยไม่เพียงแต่ลดภาษีนำเข้า แต่ยังพุ่งเป้าหมายไปที่การปรับเปลี่ยนกฎข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า และครอบคลุมถึงสินค้า บริการ การลงทุน การจัดซื้อของรัฐบาล และความร่วมมือทางกฎหมายระหว่าง 28 ประเทศสมาชิกอียูและแคนาดา

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า อียูเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของแคนาดารองจากสหรัฐฯ ขณะที่แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของอียู ด้วยมูลค่าการค้าขายสินค้ารวม 5.91 หมื่นล้านยูโรในปี 2557 และการค้าขายบริการมูลค่ารวม 2.72 หมื่นล้านยูโร

คณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า ข้อตกลงการค้าเสรีกับแคนาดาจะกำจัดภาษีนำเข้าสินค้า 98% ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้ และเพิ่มเป็น 99% หลังจาก 7 ปี ช่วยให้ผู้ส่งออกยุโรปประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวลงได้ประมาณ 470 ล้านยูโรต่อปี ด้านรัฐบาลแคนาดาประเมินว่าข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยสร้างงานราว 8 หมื่นตำแหน่ง เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์แคนาดาต่อปี

ทั้งนี้ รัฐบาลของประเทศสมาชิกและรัฐสภายุโรปจะต้องรับรองข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายหวังว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นในปีนี้และมีผลบังคับใช้ในปี 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559