นักลงทุนมะกันจ้องรุกเข้าเมียนมา

05 มี.ค. 2559 | 08:00 น.
หนังสือพิมพ์เมียนมาอีเลฟเว่น รายงานว่าหลังการเลือกตั้งในเมียนมาผ่านพ้นไปด้วยดี นักลงทุนสหรัฐอเมริกาตบเท้าเข้าไปหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศเมียนมามากขึ้นทันที โดยมีรายงานว่ามีนักลงทุนมะกัน ทยอยเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ของสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมเพื่อขอข้อมูลโอกาสทางการค้าจำนวนมาก

นายวิน อ่อง (Win Aung) ประธานสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา แสดงความเชื่อมั่นว่าการค้าระหว่างเมียนมาและสหรัฐอเมริกาจะเร่งตัวขึ้นในสมัยของรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีที่ชนะการเลือกตั้งและกำลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่

“ขณะนี้นักลงทุนสหรัฐอเมริกาและยุโรป กำลังเฝ้าดูว่านโยบายเศรษฐกิจของพรรคเอ็นแอลดีจะมีรูปร่างอย่างไร และจะมีการออกกฎหมายใหม่ ๆ ในช่วงการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่”

เมียนมาอีเลฟเว่นรายงานว่า ระหว่างงานกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจอเมริกันและเมียนมา จัดขึ้นโดยสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมและหอการค้าอเมริกันภาคเมียนมา เมื่อเร็ว ๆ นี้ปรากฏว่ามีนักธุรกิจอเมริกันมากกว่า 30 คน เป็นผู้บริหารจาก 22 บริษัทซึ่งมีบริษัทใหญ่ ๆ อาทิฟอร์ดมอร์เตอร์ ดาวเคมีคัล ดูปองท์และฮันนี่เวลล์ ร่วมอยู่ด้วยเข้าร่วมเจรจากับบริษัทท้องถิ่นเพื่อทำธุรกิจร่วมกัน

นายวิน คาดว่า การจับคู่นักธุรกิจสหรัฐอเมริกาและเมียนมาครั้งล่าสุดจะทำให้เกิดความตกลงทางธุรกิจมากกว่า 50 ข้อตกลง ซึ่งการร่วมธุรกิจกันจะเริ่มด้วยข้อตกลงทางการค้าก่อน จะนำไปสู่การลงทุนร่วมกัน โดยนายริชาร์ด แจ็กสัน กรรมการผู้จัดการของบริษัท RLC Technical Recruitment Specialist ซึ่งเข้าร่วมการจับคู่ด้วยให้สัมภาษณ์ว่า “การเดินทางมาเมียนมาครั้งนี้ไม่หวังจะได้ธุรกิจทันที แต่เป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาพบผู้บริหารในระดับสูงทั้งของสหพันธ์ นักธุรกิจท้องถิ่นและนักลงทุนอเมริกันอื่นที่เข้ามาทำธุรกิจ”

เมียนมาอีเลฟเว่นระบุว่า บริษัทของนายริชาร์ด ไม่มีสำนักงานหรือตัวแทนในประเทศเมียนมา จึงเตรียมมาหาลู่ทางในการตั้งสำนักงานขึ้นโดยคาดว่าจะมีการขยายตัวของการลงทุนครั้งใหญ่ในเมียนมาในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

นายแจ็กสัน กล่าวว่า ช่วงก่อนหน้านี้ บริษัทสัญชาติอเมริกันยังเข้ามาลงทุนในเมียนมาไม่มากเนื่องจากคิดว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมากและปัจจุบันไม่กลัวเรื่องความเสี่ยงแล้วแต่ยังห่วงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ

นายแจ็กสันระบุว่า รัฐบาลใหม่ควรทำให้กฎหมายที่เกี่ยวกับการปกป้องธุรกิจและความเป็นเจ้าของธุรกิจต่างชาติให้เข้มแข็งขึ้น และจะต้องลงทุนในเรื่องการฝึกอบรมคนงานและการสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว

เมียนมาอีเลฟเว่นอ้างข้อมูลจาก Directorate of Investment and Company Administration-DICA (ดีไอซีเอ) ว่าเมื่อสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าโครงการลงทุนของนักลงทุนอเมริกันที่ได้รับอนุมัติจากทางการเมียนมา มีทั้งสิ้น 17 โครงการ มูลค่ารวม 248 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8,928 ล้านบาท) แต่ที่ดำเนินการแล้วมีมูลค่าเพียง 4.65 ล้านดอลลาร์ (167.4 ล้านบาท)

นายวิน กล่าวว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักลงทุนอเมริกัน ยังไม่เข้ามาลงทุนในเมียนมาเต็มที่ ทั้งที่แสดงความสนใจอย่างมาก นอกจากเรื่องการเมืองและการเลือกตั้งแล้วยังมีปัญหาเรื่องการแซงก์ชัน ซึ่งสหรัฐอเมริกายังไม่ยกเลิกการแซงก์ชันนักธุรกิจของเมียนมาเป็นรายธุรกิจและรายบุคคล

เมื่อการเลือกตั้งผ่านไปด้วยดี โดยพรรคของนางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะทำให้อุปสรรคการลงทุนของนักลงทุนอเมริกันในเมียนมาได้รับการแก้ไข เหลือเพียงเรื่องการแซงก์ชัน ซึ่งนายวินระบุว่าสหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมาได้ผลักดันให้มีการยกเลิกแซงก์ชันทั้งหมด ผ่านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหอการค้าสหรัฐฯไปเป็นระยะๆ

นายวิน กล่าวว่าหากสหรัฐอเมริกาตัดสินใจยกเลิกแซงก์ชันทางการค้าทั้งหมด ทั้ง 2 ประเทศจะได้รับผลดีทั้งคู่ เมียนมาจะสามารถส่งสินค้าไปขายประเทศ สหรัฐอเมริกาได้และ นักลงทุนสหรัฐอเมริกาสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานจำนวนมากได้

นักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศระบุว่านโยบายของรัฐบาลใหม่เมียนมา อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การลงทุนจากสหรัฐอเมริกาเทเข้าสู่เมียนมาได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้านี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559