มะกันเตรียมใช้กฎหมายการค้าใหม่ ปิดช่องโหว่สินค้าจากแรงงานบังคับ

02 มี.ค. 2559 | 10:00 น.
"บารัก โอบามา" ลงนามบังคับใช้กฎหมายนำเข้าสินค้าจากแรงงานผิดกฎหมาย แก้ไขช่องโหว่ของกฎหมายฉบับเดิม ด้านกระทรวงต่างประเทศแจง "ประยุทธ์" ยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ปัญหาดังกล่าวในการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ที่ผ่านมา

[caption id="attachment_34842" align="aligncenter" width="371"] บารัก โอบามา  ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา
ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา[/caption]

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในกฎหมายฉบับใหม่ Trade Facilitation and Trade Enforcement Act เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว สินค้าที่มาจากแรงงานเด็กและแรงงานทาสจะถูกห้ามนำเข้าประเทศสหรัฐฯโดยไม่มีข้อยกเว้น

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับเดิม คือ Tariff Act of 1930 ซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรของสหรัฐฯ ในการยึดสินค้าที่ถูกสงสัยว่ามีการใช้แรงงานผิดกฎหมายและห้ามการนำเข้าสินค้าดังกล่าวต่อไปนั้น ถูกนำมาใช้ครั้งสุดท้ายในปี 2543 และมีการนำมาใช้ทั้งหมดเพียง 39 ครั้งเท่านั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเงื่อนไขที่ถูกตั้งไว้นั่นคือ ในกรณีที่การผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคสินค้านั้นๆ จะได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการผลิตอย่างไรมาก็ตาม

อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับใหม่ได้มีการยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเข้มงวดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะเริ่มต้นกระบวนการสืบสวนเมื่อได้รับคำร้องจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หน่วยงาน หรือแม้แต่ประชาชน ที่แสดงให้เห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอแต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนให้เชื่อได้ว่าสินค้านำเข้าดังกล่าวผลิตโดยมีแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

เดวิด อับราโมวิตซ์ รองประธานกลุ่มฮิวแมนิตี ยูไนเต็ด ซึ่งสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว กล่าวว่า "ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งใจกีดกันสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานผิดกฎหมายอย่างจริงจัง การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อซัพพลายเชนทั่วโลก"

องค์การแรงงานนานาชาติประเมินว่า มีแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อการถูกบังคับใช้งานอย่างผิดกฎหมายทั่วโลกประมาณ 20.9 ล้านคน โดยเกินกว่าครึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่อุตสาหกรรมผิดกฎหมายทำกำไรได้ประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายใหม่จะได้ประโยชน์จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ที่ระบุสินค้ากว่า 350 รายการจำแนกตามประเทศที่มีความเป็นไปได้ว่ามาจากแรงงานผิดกฎหมาย อาทิ ถั่วลิสงจากตุรกี ทองคำจากกาน่า พรมจากอินเดีย และปลาและกุ้งจากไทย

ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศของไทย ออกแถลงการณ์ต่อเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า กฎหมาย Trade Facilitation and Trade Enforcement Act มีผลบังคับใช้กับสินค้าที่เข้าสู่สหรัฐฯ จากทุกประเทศ ครอบคลุมหลากหลายมิติเกี่ยวกับการค้า ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมประมง และมิได้มีผลบังคับเฉพาะเจาะจงกับประเทศไทยหรือสินค้าจากอุตสาหกรรมใด อุตสาหกรรมหนึ่งของไทย โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยที่ไม่ได้ใช้แรงงานผิดกฎหมาย เสมือนได้รับการประกันว่าปราศจากปัญหาเรื่องแรงงาน ซึ่งเป็นผลดีกับภาพลักษณ์สินค้า

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯสมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขปัญหาการทำประมง ผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และแรงงานบังคับ โดยเฉพาะในภาคประมงและกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายข้างต้นว่า ไทยมีเป้าหมายเดียวกันในการแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับและหวังว่าหน่วยงานของสหรัฐฯจะนำเอากฎหมายนี้ไปปฏิบัติด้วยความโปร่งใส เพื่อไม่ให้กลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559