อังกฤษหวังบรรลุข้อตกลงอียู คาเมรอนเตรียมประกาศกำหนดลงประชามติเดือนมิ.ย.

18 ก.พ. 2559 | 13:00 น.
เดวิด คาเมรอน เดินหน้าเจรจาข้อตกลงปฏิรูปกับเจ้าหน้าที่ทางการของสหภาพยุโรป เพื่อรักษาสถานภาพของอังกฤษให้อยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปในช่วงปลายสัปดาห์ คาดประกาศกำหนดลงประชามติถ้ามีการบรรลุข้อตกลง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีกำหนดหารือร่วมกับนายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 กุมภาพันธ์) เพื่อหาเสียงสนับสนุนสำหรับแผนการปฏิรูปที่อังกฤษเรียกร้องต่ออียูเพื่อให้อังกฤษเป็นสมาชิกอียูต่อไป ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ (18-19 กุมภาพันธ์)

ด้านนายโดนัลด์ ทัสก์ ประธานอียู กล่าวเตือนว่า อียูอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งและความเสี่ยงที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากอียูนั้นมีอยู่จริง "ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเริ่มฟังข้อถกเถียงของกันและกัน เป็นธรรมดาในการเจรจาที่จุดยืนจะหนักแน่นขึ้นเมื่อเข้าใกล้เวลาสำคัญ แต่ความเสี่ยงของการแยกตัวจากอียูมีอยู่จริง เพราะกระบวนการเปราะบางมาก เราต้องจัดการอย่างระมัดระวัง สิ่งที่แตกหักไปแล้วไม่สามารถซ่อมได้"

อังกฤษพยายามผลักดันให้อียูปรับเปลี่ยนกฎ ซึ่งรวมถึงการจำกัดสวัสดิการสำหรับผู้อพยพ และปกป้องประเทศที่ไม่ได้ร่วมใช้สกุลเงินยูโร ก่อนจัดการลงประชามติเพื่อให้ชาวอังกฤษตัดสินใจว่า จะร่วมเป็นสมาชิกอียูต่อไปหรือไม่ โดยคาดว่า การลงประชามติจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

โฆษกรัฐบาลอังกฤษระบุภายหลังการหารือร่วมระหว่างนายคาเมรอน และนายฟรองซัวส์ โอลล็องด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในวันจันทร์ (15 กุมภาพันธ์) ว่า เป็นที่คาดหมายว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงเรื่องการปฏิรูปในการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปช่วงปลายสัปดาห์

สื่อท้องถิ่นของอังกฤษรายงานว่า ถ้ามีการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแผนการปฏิรูปของอังกฤษในการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปตามที่คาด นายคาเมรอนจะเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินในวันศุกร์ (19 กุมภาพันธ์) เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีที่สนับสนุนการออกจากอียูได้ออกมากล่าวแสดงจุดยืนของตนเอง หลังจากถูกห้ามไม่ให้แสดงความเห็นในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ เป็นที่คาดหมายว่า นายคาเมรอนจะประกาศกำหนดวันลงประชามติ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 23 มิถุนายน

ด้านผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดที่จัดทำโดยไอทีวี นิวส์ ระหว่างวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า 49% ของชาวสหราชอาณาจักร 1,105 คนที่เข้าร่วมการสำรวจ กล่าวว่า จะเลือกลงมติเพื่ออยู่ในอียูต่อไปถ้าการลงประชามติเกิดขึ้นในเวลานี้ อย่างไรก็ดี ฝ่ายสนับสนุนการเป็นสมาชิกอียูมีคะแนนนำลดลงจาก 18% ในการสำรวจความคิดเห็นเมื่อเดือนมกราคม (54% อยู่ในอียูและ 36% ออกจากอียู) เหลือเพียง 8% ในการสำรวจล่าสุด (49% อยู่ในอียูและ 41% ออกจากอียู) โดยมีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่กล่าวว่าจะสนับสนุนการออกจากอียู

ผลสำรวจแสดงให้เห็นด้วยว่า จำนวนผู้อพยพจากอียูที่เข้าสู่สหราชอาณาจักรเป็นประเด็นสำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิลงคะแนน โดยในกลุ่มผู้ที่กล่าวว่าจะลงคะแนนเป็นสมาชิกอียูต่อไป 47% กล่าวว่าเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด ขณะที่ 76% ของผู้สนับสนุนการออกจากอียูกล่าวว่า ประเด็นการควบคุมผู้อพยพมีความสำคัญที่สุด

ขณะเดียวกัน รายงานจากกลุ่ม CEEMET ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการด้านการผลิต 2 แสนรายทั่วยุโรป กล่าวเตือนว่า การออกจากอียูอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษหดหายไปกว่า 7% ในช่วง 15 ปีข้างหน้า "ผลกระทบอาจจะมากกว่านี้ เนื่องจากการวิเคราะห์เน้นไปที่ภาคการผลิต และไม่ได้นำผลจากภาคการเงินและภาคบริการเข้ามาพิจารณา" นายเฟรเดอริก โกนานด์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยปารีส-ดอฟีน กล่าวในรายงานทั้งนี้ ภาคบริการคิดเป็นสัดส่วน 80% ของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร

ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งสหราชอาณาจักร ออกมากล่าวในสัปดาห์นี้ว่า บริษัทส่วนใหญ่ที่ได้พูดคุยด้วยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ต่างเริ่มวางแผนการฉุกเฉินสำหรับกรณีที่อังกฤษจะออกจากอียู อย่างไรก็ตาม การลงทุนของภาคธุรกิจยังไม่ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนดังกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559