สายการบินหลักอาเซียนกำไรน้อย

19 ก.พ. 2559 | 10:00 น.
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า สายการบินหลักของประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ในระยะต่อไป มีแนวโน้มทำกำไรน้อยลงทั้งอุตสาหกรรม โดยเป็นผลจากการแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำและคู่แข่งจากตะวันออกกลาง

นายโทนี่ ไทเลอร์ (Tony Tyler) ผู้อำนวยการ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) กล่าวว่านอกจากปัญหาจากคู่แข่งแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่จะกระทบต่อแนวโน้มรายได้ของสายการบินหลักของอาเซียนคือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวลงจากปัญหาตลาดหุ้นทั่วโลกตกต่ำ ทำให้นักท่องเที่ยวในที่นั่งชั้นธุรกิจซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่สร้างรายได้ให้กับสายการบินหลักลดลง

นายไทเลอร์ให้สัมภาษณ์นักข่าวในงานแสดงเครื่องบินที่สิงคโปร์ว่า “เมื่อดูตลาดล่างที่มีสายการบินต้นทุนต่ำ และตลาดบนที่มีสายการบินจากตะวันออกกลางให้บริการเที่ยวบินระยะไกล เห็นการแข่งขันที่รุนแรงและจำนวนที่นั่งของสายการบิน ทำให้การทำกำไรเป็นเรื่องยากสำหรับสายการบินในภูมิภาคนี้”
เอเอฟพี รายงานในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ว่าในปี 2559 นี้สายการบินทั่วโลกรวมกันแล้วน่าจะทำกำไรได้ 36,300 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับตัวเลขกำไรรวมในปีที่แล้วซึ่งทำกำไรได้ 33,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.88 ล้านล้านบาท) โดยในไทเลอร์ระบุว่ากำไรที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นของสายการบินในภูมิภาคอเมริกาเหนือ

นายไทเลอร์ ระบุว่าสัดส่วนความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารของสายการบินแบบประหยัดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 54% ของความสามารถรวมโดยเพิ่มขึ้นจาก 38% ในปี 2553 ขณะที่สัดส่วนความสามารถของสายการบินแบบประหยัดในตลาดสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 31% และ 39% ในตลาดยุโรป

นักวิเคราะห์ระบุว่าสัดส่วนความสามารถขนผู้โดยสารของสายการบินแบบประหยัดในเอเชียอยู่ในอัตราที่สูงมากเทียบกับตัวเลขของไออาต้า ที่รายงานว่าสัดส่วนความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารของสายการบินแบบประหยัดของโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 26% เท่านั้น
เอเอฟพี ระบุว่าสายการบินแบบประหยัด อาทิแอร์เอเชีย ของมาเลเซีย ไลอ้อนแอร์ของอินโดนีเซีย เจ็ทสตาร์ของสิงคโปร์ นกแอร์ของไทย เซบูแปซิฟิกของฟิลิปปินส์ เวียดเจ็ทของเวียดนาม ทำให้สายการบินหลักหรือสายการบินแห่งชาติในอดีต อย่างเช่นสิงคโปร์แอร์ไลน์ ต้องเหนื่อยไม่น้อยแถมยังโดนสายการบินอย่างกาตาร์แอร์ไลน์ หรือเอทิฮัดและเอมิเรตส์ ที่ให้บริการระดับสูงและเครื่องบินฝูงใหม่กดดันแย่งลูกค้าไปอีก

นายไทเลอร์ กล่าวว่า สายการบินหลักของอาเซียนจะต้องต่อสู้ด้วยการพัฒนาแบรนด์และคุณภาพการให้บริการรวมทั้งลงทุนในการซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ที่ประหยัดน้ำมันเพื่อต่อสู้กับการแข่งขันที่เข้ามาทุกด้าน โดยเชื่อว่าการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้สายการบินกลุ่มนี้ขยายตัวต่อไปได้ เพียงแต่ว่าในขณะนี้อาจจะต้องเผชิญกับ ความยากลำบากบ้างเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559