รมต.คลังยูโรโซนไม่ห่วงแบงก์ เชื่อมีกลไกแข็งแกร่งกว่าอดีต

17 ก.พ. 2559 | 23:00 น.
รัฐมนตรีคลังยูโรโซนตบเท้าออกมากล่าวลดความตื่นตระหนกของตลาด ระบุระบบธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคมีความแข็งแกร่งขึ้นกว่าหลายปีก่อน หลังหุ้นกลุ่มธนาคารถูกเทขายอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา

รัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศยูโรโซนต่างกล่าวยืนยันว่า กฎที่นำมาใช้นับตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติเศรษฐกิจนั้นเพียงพอที่จะปกป้องระบบธนาคารพาณิชย์ยูโรโซนจากความเสี่ยงของการเทขายหุ้นและการขาดเสถียรภาพ "ยูโรโซนมีโครงสร้างที่แข็งแกร่งขึ้นในเวลานี้เมื่อเทียบกับไม่กี่ปีก่อน เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ของยุโรปด้วย" นายเยอรอน ไดจ์เซลบลอม รัฐมนตรีคลังเนเธอร์แลนด์ ในฐานะประธานกลุ่มรัฐมนตรีคลังยูโรโซน กล่าว

นายไดจ์เซลบลอมกล่าวต่อไปว่า การจัดตั้งสหภาพธนาคารจะเป็นการจัดทำกลไกสำหรับยูโรโซนเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับภาคการเงิน และลดความเชื่อมโยงระหว่างรัฐและธนาคารพาณิชย์ "เราได้เพิ่มกันชนด้านเงินทุน มีการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบการควบคุมตรวจสอบ และเรากำหนดกฎที่ชัดเจนและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้นโดยรวมแล้วเราอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้น และเราต้องรักษาการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป"

รัฐมนตรีคลังและเจ้าหน้าที่ทางการของยุโรปต่างพยายามลดทอนความตื่นตระหนกของตลาดหุ้น ที่สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก ส่งให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ และกลุ่มธนาคารของยุโรปเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเทขายหุ้นอย่างหนัก

หุ้นของธนาคารขนาดใหญ่ของยุโรปอย่างเครดิต สวิส มีมูลค่าลดลงไปแล้ว 43% ในปีนี้ ขณะที่หุ้นของดอยช์แบงก์มูลค่าลดลง 41% มูลค่าหุ้นของธนาคารในตลาดสต็อกซ์ ยุโรป 600 ลดลงไปแล้วถึง 28%

นายโวล์ฟกัง ชอยเบลอ รัฐมนตรีคลังเยอรมนี กล่าวถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า ตลาดตื่นตระหนกเกินไปในระดับหนึ่ง ขณะที่นายอเล็กซานเดอร์ สตับบ์ รัฐมนตรีคลังฟินแลนด์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวยังไม่กังวลต่อสถานการณ์ของธนาคารพาณิชย์เป็นพิเศษในเวลานี้

ด้านนายปิแอร์ มอสโควิชี กรรมาธิการฝ่ายเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า เมื่อเทียบกับในอดีตที่เกิดปัญหาในตลาดการเงิน เวลานี้ยูโรโซนมีระบบธนาคารที่เข้มแข็งมากขึ้น เพราะมีกลไกในการตรวจสอบและมีความเข้มงวด "มันช่วยให้เรารับรู้สถานการณ์ของธนาคารได้ดีขึ้นและเพิ่มทุนของธนาคารได้ดีขึ้น"

นอกเหนือจากสถานการณ์ของธนาคารพาณิชย์เอง อาทิ ดอยช์แบงก์ที่นักลงทุนกังวลต่อความสามารถในการจ่ายหนี้พันธบัตร ขณะที่เอชเอสบีซีและสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด มีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน สถานการณ์ความไม่แน่นอนในกรีซเกี่ยวกับการรับเงินช่วยเหลือ ปัญหางบประมาณในโปรตุเกส และปัญหาการเมืองในสเปนที่ยังไม่มีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนเพิ่มเติมให้กับตลาด

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมากล่าวแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธนาคารในยุโรป "การเทขายหุ้นในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนถึงแนวโน้มที่ย่ำแย่ลงของธนาคารยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างแน่นอน การฟื้นตัวของยุโรปยังคงเปราะบางและจำเป็นต้องมีภาคธนาคารที่เข้มแข็งเพื่อสนับสนุนการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ" นายเจอร์รี ไรซ์ โฆษกของไอเอ็มเอฟกล่าว

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางรายมองว่าสถานการณ์ยังไม่เลวร้ายเท่ากับช่วงเกิดวิกฤติการเงิน "มันเป็นเวลาที่น่ากังวลสำหรับผู้ที่ถือหุ้นธนาคาร แต่โดยส่วนตัวไม่รู้สึกว่ามันเลวร้ายเท่ากับตอนวิกฤติเลห์แมน เนื่องจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) พร้อมที่จะมีมาตรการออกมาสนับสนุน และยังไม่เกิดภาวะวิกฤติขึ้นในระบบการเงิน" แอนเดรีย วิลเลียมส์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโสจากรอยัล ลอนดอน แอสเซ็ต เมเนจเมนต์ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559