มหาวิทยาลัยชินวัตรเดินหน้าเพิ่มนักศึกษาไทย-อาเซียน

14 ก.พ. 2559 | 11:00 น.
ม.ชินวัตร เตรียมตั้งสำนักงานในหนองคายและกัมพูชา หวังดึงนักศึกษาในกลุ่มอาเซียนเพิ่ม พร้อมวางเป้า 3 ปี เพิ่มจำนวนนักศึกษาไทย-ต่างประเทศเข้าเรียนทะลุ 1 พันคน ชูจุดขายจบเกรด 3.0 มีงานทำในบริษัทมหาชน ขณะเดียวกันเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตร CPHF ในจีน ส่งนักศึกษาเข้าเรียน

รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยชินวัตร เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ได้เตรียมตั้งสำนักงานเพื่อรับนักศึกษาในจังหวัดหนองคาย เพื่อรองรับนักศึกษาจากสปป.ลาว และตั้งสำนักงานในประเทศกัมพูชา เพื่อรับนักศึกษาด้วย จากปัจจุบันที่มีสำนักงานที่ประเทศเนปาล และเมียนมา เนื่องจากต้องการขยายจำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยได้ตั้งเป้าหมายรับนักศึกษาให้ถึง 1,000 คนภายใน 3 ปี ทั้งนักศึกษาไทยและต่างชาติ จากปัจจุบันมีนักศึกษาทุกระดับชั้นรวมกว่า 400 คน

โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาจากต่างชาติที่เข้ามาศึกษาสัดส่วน 25% คาดว่าในระยะ 3 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 50% เป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งแนวทางการดำเนินงานจะมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรและคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือกับองค์กรภายนอก โดยขณะนี้ยังไม่มีแผนเพิ่มจำนวนคณะที่เปิดรับนักศึกษา จากปัจจุบันเปิดสอนระดับปริญญาตรี 7 คณะ พร้อมด้วยหลักสูตรประกาศนียบัตรอีก 28 หลักสูตร

"ล่าสุดได้ร่วมกับมูลนิธิไชน่า ไพร์มารี่ เฮลท์แคร์ ฟาวเดชั่น (CPHF) ในการส่งนักศึกษามาเรียนด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโฮเทลแมนเนจเม้นท์ และฮอสปิทาริตี้แมนเนจเม้นท์ โดยจะเดินทางมาในเดือนพฤษภาคม 90 คนและเดือนพฤศจิกายนอีก 90 คน CPHF ถือว่าเป็นมูลนิธิติดอันดับท้อปไฟฟ์ของจีนทางด้านผลงานและเงินทุน และมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับท้อปเท็นในจีนจำนวนมาก"

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาชาวจีน 20 คน โดยตั้งเป้าว่าในอนาคตอีก 5 ปีจะเพิ่มสัดส่วนนักศึกษาชาวจีนเป็น 2,000 คน เนื่องจากตลาดแรงงานของประเทศจีนต้องการบุคลากรอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะที่จบทางด้านพยาบาลศาสตร์และสาธารณาสุขศาสตร์ ขณะเดียวกันทางด้านการตลาด มหาวิทยาลัยจะใช้วิธีการสื่อสารการตลาด ให้กับนักเรียนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาต่อระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะหลักสูตรคอมพิวเตอร์ หากสามารถเรียนจบด้วยเกรดตั้งแต่ 3.0 ขึ้นไป ทางมหาวิทยาลัยรับรองว่าจะมีงานทำทุกคน ในบริษัทมหาชน เนื่องจากเป็นที่คณะกรรมการในบริษัทหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคาร โรงแรม หรือธุรกิจค้าปลีก นอกจากนี้ตลาดแรงงานของบริษัทมหาชนดังกล่าว มีความต้องการแรงงานมากถึงปีละ 500 ตำแหน่ง แต่ปัจจุบันบัณฑิตที่จบมีปีละกว่า 50-100 คนเท่านั้น

รศ.ดร.บุญสม กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมาจึงได้ตั้งสำนักบริการวิชาการ หรือเดอะเน็กซ์(The NEXT) เพื่อดำเนินการด้านงานวิชาการและบริการชุมชน โดยมี 3 ศูนย์ที่เปิดให้บริการ ได้แก่ 1. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง ให้บริการจัดการฝึกอบรม การให้ความรู้สู่สังคม มี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรกการนำความรู้ไปสู่ชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งจะไม่มีค่าใช้จ่าย และรูปแบบที่สอง การนำความรู้สู่วิชาชีพ นำไปต่อยอดในการประกอบวิชาชีพ ซึ่งเก็บค่าใช้จ่ายในการให้บริการ 2. ศูนย์วิจัยและพัฒนา ที่ให้บริการงานวิจัยกับหน่วยงานต่างๆ และ 3.ศูนย์เร่งรัดพัฒนาผู้ประกอบการใหม่

สำหรับโครงการแรกของเดอะเน็กซ์ ที่เปิดให้บริการ คือ เดอะเน็กซ์ เรียล (The NEXT real) การอบรมให้ความรู้ทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 16 สัปดาห์ ที่จะนำผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาให้ความรู้ด้านต่างๆ อาทิ เทรนด์ในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า ด้านจำนวนประชากร การตลาด ผังเมือง เทคโนโลยีในธุรกิจอสังพาริมทรัพย์ รวมถึงเทนด์การออกแบบ ซึ่งหลักสูตรนี้จะแตกต่างจากสถาบันอื่นที่เคยทำ ขณะนี้มีผู้สมัครเข้ารับการอบรมแล้ว 170 คน ซึ่งจะรับเพียงรุ่นละ 100-120 คน เสียค่าใช้จ่ายคนละ 1.85 แสนบาท หลังจากนั้นจะเปิดหลักสูตร เดอะเน็กซ์อินโฟกราฟิค ในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน และหลักสูตรการพัฒนาซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ต่อไปด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559