อาเซียนรับมาตรฐานสถานที่จัดงานของไทย

05 ก.พ. 2559 | 13:00 น.
ทีเส็บ โชว์ผลงานหลังสมาชิกอาเซียน เห็นพ้องใช้มาตรฐานสถานที่จัดงานของประเทศไทย เป็นต้นแบบการพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์แห่งอาเซียน คาดจัดทำมาตรฐาน ASEANMICE VENUE STANDARD แล้วเสร็จและประกาศใช้ได้ในปี 2560 พร้อมชู 3กลยุทธ์ โฟกัสกลุ่ม 5 อุตสาหกรรมหลักดึงงานแสดงสินค้าเข้าไทย

นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในขณะนี้ทีเส็บ ได้ผลักดันมาตรฐานสถานที่จัดงานของประเทศไทย(Thailand MICE VenueStandard) จนได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกอาเซียนใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนามาตรฐานไมซ์อาเซียน หลังจากการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการท่องเที่ยวอาเซียนครั้งที่ 43 ณ กรุงมะนิลาประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อกลางเดือนมกราคม2559 ที่ประชุมอาเซียนเห็นชอบให้ MICEVenue Standard ที่มาจากมาตรฐานของไทยถูกบรรจุไว้ใน ASEAN TourismStrategic Plan 2016 -2025 โดยประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องมาตรฐานไมซ์อาเซียน

“อาเซียนได้รับมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานอาเซียน และได้มอบหมายให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพคณะอนุกรรมการในการพัฒนามาตรฐานร่วมกับสมาชิกอีก9 ประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในเวทีอาเซียนด้านอุตสาหกรรมไมซ์และกำหนดแผนต่อยอดโดยเตรียมจัดอบรมองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสถานที่จัดงานให้แก่ประเทศในอาเซียน ชูบทบาทของไทยให้เป็นผู้นำองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะศูนย์กลางไมซ์ของอาเซียน คาดการณ์ว่าการจัดทำมาตรฐาน ASEAN MICE VENUESTANDARD จะเสร็จสิ้นและประกาศใช้ได้ในปี 2560”

นายนพรัตน์ ยังกล่าวต่อว่า การผลักดันมาตรฐานไมซ์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อพัฒนาไปสู่มาตรฐานไมซ์ของอาเซียน ถือเป็นการชูบทบาทประเทศไทยให้เป็นสถาบันไมซ์แห่งภูมิภาค โดยแผนงานสำคัญของทีเส็บ ที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ การพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้จัดงานในการนำงานเชิงธุรกิจเข้ามาจัดในประเทศไทย

โดยทีเส็บได้จัดทำแผนแม่บทด้านการจัดทำมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย 2558-2562 ขึ้นรองรับประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ครอบคลุม6 มิติแห่งการพัฒนาทั้งในด้านสถานที่จัดงาน /บุคลากร/ระบบสารสนเทศ/การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมตลาด / การส่งเสริมมาตรฐานและสถานที่จัดงานในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN MICE VENUESTANDARD)/และการขับเคลื่อนมาตรฐานสถานที่จัดงานในอุตสาหกรรมไมซ์ให้เกิดความยั่งยืน รวม41 โครงการ ภายใต้งบประมาณ 66ล้านบาท

โดยในปี2559 จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2ส่วนหลัก ส่วนแรกเป็นการสานต่อ“โครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์(ประเภทห้องประชุม)” ในเมืองไมซ์ซิตีทั้ง 5 แห่งเริ่มจาก พัทยา กรุงเทพฯ เชียงใหม่ภูเก็ต และขอนแก่นซึ่งได้ร่วมมือกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ(ISO) ล่าสุดมีผู้ประกอบการไมซ์ผ่านการประเมินและเข้ารับมอบตราสัญลักษณ์มาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ (ประเภทห้องประชุม) ประจำปีงบประมาณ 2559จำนวนทั้งสิ้น 100 แห่ง มีห้องประชุมรวม 227 ห้อง เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ2558 ซึ่งมีผู้ประกอบการไมซ์ที่ผ่านการประเมินได้รับมอบตราสัญลักษณ์จำนวนทั้งสิ้น 42 ราย คิดเป็นห้องประชุมรวม114 ห้อง

ส่วนที่ 2 ทีเส็บวางแผนขยายการทำงานไปสู่การพัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงานแสดงสินค้า หรือ ExhibitionMICE Venue Standard ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับจาก UFIหรือ สมาคมส่งเสริมการจัดงานแสดงสินค้าโลกติดอันดับต้นของประเทศในภูมิภาคที่มีจำนวนพื้นที่ขายการแสดงสินค้าที่สูง และงานแสดงสินค้าจากนานาชาติก็เลือกประเทศไทยเป็นฮับของการจัดงาน โดยภายในปีงบประมาณ 2559 คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์และรายได้เพิ่มขึ้น 5 % คิดเป็นจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ 1.06 ล้านคน สร้างรายได้ 9.2หมื่นล้านบาท

ด้านนางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ ทีเส็บ เปิดเผยว่าการดำเนินงานของฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติในปี 2559 ภายใต้เป้าหมายการเพิ่มผู้เดินทางกลุ่มแสดงสินค้านานาชาติ1.91 หมื่นคน สร้างรายได้ 1.56 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของรายได้ตลาดไมซ์รวมทั้งหมด จะมุ่งดำเนินการในกลยุทธ์ 3 มิติ ได้แก่ “มิติทางด้านรายได้” ที่จะมุ่งเพิ่มรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มจำนวนผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วมงานและจำนวนงานแสดงสินค้าในกลุ่ม 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์ พลังงาน อาหารและสินค้าเกษตรสุขภาพและอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่ “มิติของการสร้างภาพลักษณ์” ประเทศไทยจะมุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นเวทีจัดงานแสดงสินค้านานาชาติของอาเซียน ภายใต้แคมเปญ “ThailandExtra Exhibition…Expand Your BusinessOpportunities in ASEAN” ซึ่งจะเป็นการวางตำแหน่งทางการตลาดใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติของประเทศ โดยนำเสนอจุดแข็งของไทยในมิติต่างๆที่สามารถตอบโจทย์ นำเสนอความคุ้มค่าและผลประโยชน์ที่มากกว่าในการเข้าร่วมงานและจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทย และ“มิติของการส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐและเอกชน” ที่จะมุ่งผลักดันให้อุตสาหกรรมต่างๆ เติบโตอย่างมั่นคงโดยในปีหน้า ทีเส็บจะขยายความร่วมมือกับ 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรม พลังงาน เกษตรและสหกรณ์สาธารณสุข และคมนาคม ในการพัฒนางานแสดงสินค้าจาก 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559