อินโดฯโดนเวียดนามแย่งทุน รัฐมนตรีอิเหนาระบุต่างชาติหนีไปลงทุนที่เวียดนาม

05 ก.พ. 2559 | 04:30 น.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซียระบุ เวียดนามกลายเป็นคู่แข่งดึงนักลงทุนต่างชาติไปหมดเผยอำนาจต่อรองสู้ไม่ได้หลังจากเวียดนาม ทำสัญญาการค้าเสรีกับยุโรปและเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ

[caption id="attachment_29835" align="aligncenter" width="410"] โทมัส เลมบอง (Thomas Lembong) รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซีย โทมัส เลมบอง (Thomas Lembong)
รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซีย[/caption]

จาการ์ตาโพสต์ รายงานระบุว่านายโทมัส เลมบอง (Thomas Lembong) รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซียพูดถึงเวียดนามว่าเป็น เวียดนามกลายเป็นคู่แข่งสำคัญ ของอินโดนีเซียในด้านการค้าและลงทุนหลังจากที่เวียดนามประสบความสำเร็จในการทำข้อตกลงกับประชาคมยุโรปและทีพีพี

นายโทมัส กล่าวว่า เวียดนามได้ทำข้อตกลงเอฟทีเอ กับประชาคมยุโรปต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้วและขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับรอง โดยข้อตกลงดังกล่าวมีการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าทั้งหมด โดยเวียดนามจะเปิดเสรีทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปีส่วนยุโรปจะลดภาษีให้กับสินค้าทั้งหมดภายใน 7 ปี

นอกจากข้อตกลงทางภาษีแล้ว ยังมีการตกลงกันในเรื่องสิ่งกีดขวางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเกือบทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการประมูลของรัฐ กฎระเบียบภายในประเทศ การแข่งขัน บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จาการ์ตาโพสต์อ้างตัวเลขของกรรมาธิการยุโรป ระบุว่ามูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปประชาคมยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มจาก 18,600 ล้านยูโร (ประมาณ 706,000 ล้านบาท) ในปี 2555 เป็น 22,200 ล้านยูโร (ประมาณ 864,000 ล้านบาท) ขณะที่การส่งออกของอินโดนีเซียไปประชาคมยุโรปซึ่งมี 28 ประเทศลดลงจาก 15,500 ล้านยูโร (ประมาณ 600,000 ล้านบาท) ในปี 2555 เป็น 14,400 ล้านยูโร (ประมาณ 544,733 ล้านบาท) ในปี 2556 และ 2557

นอกจากนี้เวียดนามยังมีโอกาสที่ดีในการขายสินค้าเข้าสู่ประเทศสมาชิกทีพีพี 12 ประเทศคือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการรับรองข้อตกลงทีพีพีในอนาคตอันใกล้

จาการ์ตาโพสต์ระบุว่า อินโดนีเซียและเวียดนามเป็นคู่แข่งที่สูสีกันมากในการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยตลาดหลักของทั้ง 2 ประเทศ คือสหรัฐอเมริกาดังนั้นเมื่อเวียดนามเข้าตลาดสหรัฐฯ ได้ง่ายกว่าภายใต้ข้อตกลงทีพีพี ก็จะมีโอกาสครองสัดส่วนตลาดได้มากกว่าสินค้าของอินโดนีเซีย

ผู้เชี่ยวชาญระบุสัดส่วนของสินค้าเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 35% ได้ โดยหอการค้าอเมริกัน-เวียดนามได้แถลงก่อนหน้านี้ว่า การลดภาษีภายใต้ข้อตกลงทีพีพีจะทำให้มีการโยกย้ายแหล่งผลิตสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มครั้งใหญ่มาที่เวียดนาม
รัฐมนตรีการค้าอินโดนีเซียให้สัมภาษณ์ว่า อินโดนีเซีย จะต้องทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อตามเวียดนามให้ทัน โดยจะต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจและนโยบาย โดยรัฐบาลจะพยายามเร่งเจรจาเพื่อให้บรรลุข้อตกลงทางการค้าในกรอบระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน เพื่อเปิดช่องให้เอกชนส่งสินค้าออกไปได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559