‘โมบายแบงกิ้ง’ มีสิทธิ์รุ่งในเมียนมา

05 ก.พ. 2559 | 14:00 น.
หนังสือพิมพ์ออนไลน์เมียนมาอีเลฟเว่นรายงานว่า บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือหรือโมบายแบงกิ้งมีสิทธิ์ขยายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้รับความสะดวกจากบริการทางการเงินในระบบเครือข่ายสาขาแบงก์

เมียนมาอีเลฟเว่นอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนาย ทากาชิ ชิเกโนะ ผู้อำนวยการบริษัท เคดดีไอซัมมิทโกลเบิ้ลคอร์เปอเรชันฯ ว่าความนิยมใช้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือจะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากประชากรเมียนมาส่วนใหญ่มากกว่า 70% อาศัยในเขตบ้านนอก มีประชากรที่มีบัญชีธนาคารแล้ว 20-25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรผู้ใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถรับบริการทางการเงินผ่านเครือข่ายสาขายังขาดแคลนมาก

นายชิเกโนะกล่าวในงานแสดงสินค้า โมบายมันนี่แอนด์อี-คอมเมิร์ซซัมมิท 2016 จัดขึ้นที่เมืองย่างกุ้งเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “การขอรับบริการทางการเงินผ่านช่องทางปกติมีความยากลำบากมากและเกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า”

เมียนมาอีเลฟเว่นรายงานว่า กลุ่มบริษัทของญี่ปุ่นซึ่งประกอบด้วย ธนาคารแบงก์ออฟโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (บีทีเอ็มยู) และบริษัท เคดีดีไอฯ เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกับ องค์การไปรษณีย์และโทรคมนาคมเมียนมา ในการร่างกฎระเบียบการให้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อเร็วๆ นี้

นายชิเกโนะ ให้สัมภาษณ์เมียนมาอีเลฟเว่น ว่าหลังจากที่มีระเบียบใช้บังคับแล้วคาดว่า จะมีบริการโมบายแบงกิ้งใหม่ๆ เปิดให้บริการและตลาดจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว

รายงานข่าวระบุว่า องค์การไปรษณีย์และโทรคมนาคมเมียนมาจะเปิดให้มีบริการธุรกรรมการเงินทำผ่านโทรศัพท์มือถือใน 3 ขั้นตอนเริ่มขั้นตอนแรกในช่วงปลายปีนี้ จะมีการเปิดบริการฝากเงิน โอนเงินระหว่างบุคคล เติมเงินโทรศัพท์อัตโนมัติ การส่งเงินระหว่างประเทศและจ่ายบิล ส่วนในขั้นตอนที่ 2 จะเริ่มในปี 2560-1 จะเปิดให้มีการจ่ายเงินค่าสินค้าทำให้สามารถช็อปปิ้งออนไลน์ได้ และในขั้นตอนที่ 3 เริ่มในปี 2562 จะเพิ่มบริการออมเงิน เงินกู้และประกัน

ชิเกโนะ กล่าวว่าผู้ให้บริการโมบายแบงกิ้งในช่วงแรกไม่ควรจะหาลูกค้าอย่างเดียวแต่ควรให้ความรู้แก่ลูกค้า และให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกค้าที่ใช้บริการประจำเพิ่มและอบรมพนักงานตัวแทนผู้ขายบริการให้เป็นเครือข่ายที่แข็งแรง เพื่อความเข้มแข็งของธุรกิจในระยะยาว

นายริชาร์ด บัตเท่นชอว์ ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ของบริษัท คอนเน็กเอ็นเพย์ฯ กล่าวว่าประเทศเมียนมา ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยี ตามลำดับขั้น สามารถกระโดดข้ามไปสู่เทคโนโลยีขั้นที่สูงกว่าได้เลย “เมียนมาเป็นประเทศหน้าด่านสุดท้ายในการเข้ามาอยู่ในโครงการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นตลาดที่มีความน่าสนใจมากเพราะเรามีโอกาสกำหนดอนาคตเศรษฐกิจ เราต้องเปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจและสังคมเพื่อสิ่งที่ดีกว่า”

นายอู เตง มิ้นท์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคาร ซีบีแบงก์ ซึ่งเป็นแบงก์เอกชนใหญ่รายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ เมียนมาอีเลฟเว่นก่อนหน้านี้ว่า โมบายแบงกิ้ง จะเป็นบริการการเงินที่น่าสนใจที่สุดน่าจะได้รับความนิยมมากในอนาคต เนื่องจากทำให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้ทุกคน

“ตอนนี้มีโทรศัพท์มือถือกันทุกคน ธนาคารท้องถิ่นอย่างซีบีแบงก์ และ เอวายเอแบงก์ เริ่มเตรียมให้บริการโมบายแบงกิ้งแล้ว โดยซีบีแบงก์ได้สร้างเครือข่ายตัวแทนผู้เพื่อช่วยขยายลูกค้าด้วย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559