เศรษฐกิจโลกกดดันธนาคารกลาง คาดเฟดทบทวนแผนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

28 ม.ค. 2559 | 08:00 น.
เศรษฐกิจที่ส่อเค้าอ่อนแอและความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลก สร้างแรงกดดันต่อการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางขนาดใหญ่ของโลกสำหรับการประชุมในวาระแรกของปี 2559
ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีกำหนดการประชุมในวันที่ 26-27 มกราคม และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนในปัจจุบัน เฟดจะต้องพิจารณาแผนการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยใหม่ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งมีกำหนดประชุมระหว่างวันที่ 28-29 มกราคม เผชิญกับแรงกดดันในการขยายขนาดการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อพยุงการเติบโตที่อ่อนแอและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมาก

"ทุกอย่างกำลังแย่ลง" โจเซฟ แก๊กนอน นักวิชาการจากสถาบันเศรษฐศาสตร์นานาชาติปีเตอร์สัน กล่าว และเสริมว่า "ผมคาดว่าเฟดจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมอีก 2-3 ครั้งข้างหน้า และอาจจะไม่ปรับดอกเบี้ยอีกเลยในช่วงครึ่งแรกของปี"

ในเดือนนี้ ทั้งธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต่างปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงอีกครั้ง ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ต้นปี ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความกังวลและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว หลังจากจีนทำหน้าที่เป็นหัวจักรขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญมาตลอดหลายปี

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ถ่านหิน ทองแดง และวัตถุดิบอื่นๆ มาให้กับจีน ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินของประเทศเหล่านั้นอ่อนค่าลง เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่ในเดือนมกราคมลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี

ในการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อสัปดาห์ก่อน นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี เตือนว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้แนวโน้มเงินเฟ้อของภูมิภาคต่ำกว่าตัวเลขที่อีซีบีคาดการณ์ไว้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าอีซีบีมีโอกาสขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม อีซีบีเริ่มดำเนินการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ คิวอี ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีก่อน และเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้ประกาศว่าจะขยายระยะเวลาการซื้อพันธบัตรไปจนถึงเดือนมีนาคม 2560 หวังกระตุ้นการกู้ยืมและการใช้จ่าย พร้อมกับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อขึ้นจากระดับที่ต่ำจนอันตรายและสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาวะเงินฝืด ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเนื่องจากผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอย

ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ พยายามที่จะสนับสนุนมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเช่นเดียวกัน ในการประชุมสัปดาห์นี้ บีโอเจจะเผชิญกับแรงกดดันให้ขยายการซื้อพันธบัตรหลังจากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่เพิ่มขึ้นตามที่หวัง นักเศรษฐศาสตร์ของบีเอ็นพี พาริบาส์ กล่าวว่า ความเป็นไปได้ในการออกมาตรการเพิ่มเติมใกล้เคียง 50-50 และพัฒนาการของตลาดในช่วงต้นสัปดาห์อาจจะบีบให้บีโอเจต้องผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม

ในทางกลับกัน เฟดกำลังอยู่ในช่วงของการดำเนินนโยบายในทิศทางตรงกันข้าม โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เฟดตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกหลังจากคงไว้ในระดับ 0-0.25% มาตั้งแต่ปลายปี 2551 เพื่อตอบสนองกับเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และเจ้าหน้าที่ทางการของเฟดคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกประมาณ 4 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกอาจจะทำให้เฟดต้องปรับแผนการขึ้นดอกเบี้ย โดยนักลงทุนต่างจับตามองท่าทีของเฟดภายหลังการประชุมในสัปดาห์นี้ว่าจะส่งสัญญาณอย่างไร ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เป็นอีกหนึ่งธนาคารกลางที่ได้รับการคาดหมายว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในไม่ช้า แต่เมื่อสัปดาห์ก่อน นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการบีโออี กล่าวว่า "เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะขึ้นดอกเบี้ย"

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า ธนาคารกลางไม่สามารถทำอะไรได้อีกมากนัก อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นหลายประเทศอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว ประกอบกับมาตรการซื้อพันธบัตรช่วยลดดอกเบี้ยระยะยาว ปัญหาที่รุมเร้าเศรษฐกิจโลกอาจจะเป็นปัญหาที่เกินเอื้อมของธนาคารกลาง เช่น จีนจำเป็นต้องก้าวผ่านช่วงการเปลี่ยนผ่านมาเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตด้วยการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะที่หลายประเทศพัฒนาแล้วมีปัญหาแรงงานที่อายุมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559