แนวโน้มเศรษฐกิจโลกไม่สดใส ไอเอ็มเอฟชี้ปัจจัยเสี่ยงตลาดเกิดใหม่และนโยบายเฟด

26 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในเวที World Economic Forum พร้อมกับที่นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง

แม้ว่าในปีนี้ ธีมหลักของการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกต้นปีที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ คือ "การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4" (The fourth industrial revolution) ซึ่งกล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่มีต่ออนาคต แต่ผู้เข้าร่วมการประชุมกล่าวว่า ความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก อาทิ การชะลอตัวของจีนและราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางนอกเวทีการประชุม

ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถูกตอกย้ำด้วยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจจากหลายสำนักที่แสดงถึงแนวโน้มที่ไม่สดใส กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือ 3.4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.6% เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน นอกจากนี้ยังปรับลดคาดการณ์การเติบโตในปี 2560 ลงจาก 3.8% เหลือ 3.6%

ไอเอ็มเอฟระบุว่า ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงเอนเอียงไปทางด้านลบ โดยเศรษฐกิจโลกเผชิญกับการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ 3 ประกาศ ได้แก่ การชะลอตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่ การเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจจีนไปสู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการผลิตน้อยลง และการก้าวออกจากการใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมากของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างช้าๆ ซึ่งไอเอ็มเอฟเตือนว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะสะดุดลงถ้าความท้าทายเหล้านี้ไม่ได้รับการบริหารจัดการ

ขณะเดียวกัน ซิตีกรุ๊ปออกมากล่าวเตือนว่าเศรษฐกิจโลกสุ่มเสี่ยงที่จะก้าวสู่ภาวะถดถอย โดยทางธนาคารได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตในปีนี้ลงจาก 2.8% เหลือ 2.7% พร้อมกับปรับลดคาดการณ์การเติบโตในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ตลอดจนตลาดเกิดใหม่อย่างรัสเซีย แอฟริกาใต้ บราซิล และเม็กซิโก ส่วนเศรษฐกิจจีน ซิตีกรุ๊ปไม่ได้ปรับลดคาดการณ์ในปีนี้แต่ลดคาดการณ์การเติบโตปีหน้าลงเหลือ 6.0%

"แนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางในจุดวิกฤติ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราอยู่ในภาวะสมดุลระหว่างการเติบโตที่น่าผิดหวังและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินที่เข้ามาสนับสนุน แต่ความสมดุลในเวลานี้อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง" นักเศรษฐศาสตร์ของซิตีกรุ๊ประบุ และเสริมว่า "ความเสี่ยงต่อคาดการณ์การเติบโตยังเป็นด้านลบ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ และความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยมีเพิ่มมากขึ้น"

ไม่เพียงแต่นักเศรษฐศาสตร์ที่กังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ผลการสำรวจความคิดเห็นของประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอกชน 1,400 รายใน 83 ประเทศที่จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษา พีดับเบิลยูซี และเปิดเผยในการประชุม WEF ในสัปดาห์นี้ พบว่า ผู้บริหารบริษัทชั้นนำมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจต่ำสุดในรอบ 3 ปี

ผลการสำรวจพบว่า มีผู้บริหารเพียง 27% ที่แสดงความเชื่อมั่นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นในปีนี้ ลดลงจาก 37% เมื่อปีก่อน และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2556 ขณะเดียวกัน มีผู้บริหารเพียง 35% ที่ตอบว่า "มั่นใจมาก" ว่าจะเพิ่มรายได้ของบริษัทได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ลดลงจาก 39% ในการสำรวจเมื่อปีก่อนและเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2553

เดนนิส แนลลี ประธานบริษัท พีดับเบิลยูซีฯ กล่าวเตือนว่า ความไม่เชื่อมั่นของผู้บริหารมีโอกาสส่งผลต่อการวางยุทธศาสตร์และแผนการลงทุนของบริษัททั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้บริหารประกอบด้วย ข้อกฎหมายทางธุรกิจที่มากเกินไป ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และจำนวนแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559