ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนบูม โครงการขนาดใหญ่ช่วยสร้างสถิติลงทุนสูงสุด

19 ม.ค. 2559 | 13:00 น.
การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานลมและแสงอาทิตย์ สามารถทำสถิติสูงสุดได้ในปีที่ผ่านมา 3.239 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ท่ามกลางราคาน้ำมันลดต่ำลงอย่างมากจนทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานรูปแบบเก่าต้องปรับลดค่าใช้จ่าย

ผลการวิจัยโดยบลูมเบิร์ก นิว เอเนอร์จี ไฟแนนซ์ พบว่า การลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียน อาทิ ลมและแสงอาทิตย์ ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 4% จากมูลค่า 3.159 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2557 เป็น 3.239 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากระดับการลงทุนเมื่อปี 2547 ถึงเกือบ 6 เท่าตัว

รายงานวิจัยระบุว่า มูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อปีก่อนสะท้อนถึงราคาของเซลล์แสงอาทิตย์และกังหันลมที่ลดลงมาก รวมถึงการปล่อยสินเชื่อมูลค่าสูงให้กับโครงการทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่งขนาดใหญ่ที่มีแผนการก่อสร้างมาเป็นเวลาหลายปี

ในขณะที่บริษัทน้ำมัน อาทิ เอ็กซอน โมบิล และรอยัล ดัตช์ เชลล์ ต้องปรับลดจำนวนพนักงานและลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน เป็นการปรับตัวเพื่อรับมือกับราคาน้ำมันที่ลดลงถึงกว่า 60% ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจพลังงานทดแทนกลับคึกคักจากอานิสงส์ของกฎหมายที่สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลออกสู่บรรยากาศ

บทวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษา วูด แมคเคนซี จำกัด ระบุว่า ความกังวลต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัทน้ำมัน ส่งผลให้มีการชะลอโครงการลงทุนออกไปเป็นมูลค่า 3.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แองกัส แมคโครน บรรณาธิการบริหารของบลูมเบิร์ก นิว เอเนอร์จี ไฟแนนซ์ กล่าวว่า ปี 2559 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมีความแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี มีปัจจัยเสี่ยงบางประการที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจดังกล่าวในปีนี้ เช่น การลดลงของการลงทุนในรูปแบบของ yieldco ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการลงทุนสูงสุดในปี 2558 และแนวโน้มธุรกิจทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่งที่ไม่สดใสนักในตลาดที่ใหญ่ที่สุดอย่างสหราชอาณาจักร

จีนยังคงเป็นตลาดสำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยการลงทุนเพิ่มขึ้น 17% เป็น 1.105 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2 เท่าของการลงทุน 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 2 โดยเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุน

การลงทุนพลังงานหมุนเวียนในอินเดียเพิ่มขึ้น 23% เป็น 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ตลาดใหม่ๆ เช่น เม็กซิโก ชิลี และแอฟริกาใต้ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้หลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตรงข้ามกับบราซิลที่มูลค่าการลงทุนลดลง 10% เหลือ 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

"ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศได้เริ่มใช้ไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ พลังงานเหล่านี้ผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล และสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วเพื่อเข้ามาเสริมกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า" ไมเคิล ลีบรีช ประธานที่ปรึกษาบลูมเบิร์ก นิว เอเนอร์จี ไฟแนนซ์ กล่าว

ไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นเมื่อปีก่อน โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเพิ่มขึ้น 64 กิกะวัตต์ และพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 57 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2557

การลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากโครงการขนาดใหญ่ อาทิ โครงการทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่งเรซแบงก์ของอังกฤษซึ่งมีกำลังการผลิต 580 เมกะวัตต์ เป็นโครงการลงทุนมูลค่าสูงสุดเมื่อปีก่อน 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยโครงการทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่งกัลลอปเปอร์ในอังกฤษ ด้วยมูลค่าการลงทุน 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โครงการลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้ช่วยให้อังกฤษเป็นตลาดที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป ด้วยมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 24% เป็น 2.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในเยอรมนี การลงทุนลดลง 42% เหลือ 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลลดเงินอุดหนุน ทำให้การลงทุนในยุโรปโดยรวมลดลง 18% เหลือ 5.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559