“ยูนนาน” พร้อมเข้าสู่ “ยุครถยนต์ไฟฟ้า”

20 ต.ค. 2560 | 09:28 น.
1631
บทความพิเศษ :: “ยูนนาน” พร้อมเข้าสู่ “ยุครถยนต์ไฟฟ้า”
| จากการที่ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในส่วนของ “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ “อีวี” นั้น กำหนดให้อัตราภาษีลดลงเหลือ 0% ทำให้สปอตไลต์สาดส่องไปที่แนวโน้มการไหลทะลักเข้ามาของ “รถอีวี” จาก “ประเทศจีน” คู่สัญญาเอฟทีเอของอาเซียน โดยจีนเองเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากในระดับแนวหน้าของโลก เนื่องจากรัฐบาลจีนมีนโยบายยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างกว้างขวางภายในประเทศ ด้วยมาตรการอุดหนุนทั้งในส่วนของผู้ผลิตและผู้ซื้อ ทำให้จีนเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนและสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ได้นำเสนอบทความพิเศษเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของ “มณฑลยูนนาน” มณฑลใหญ่ที่มีพรมแดนติดกับประเทศสมาชิกอาเซียน ในการเข้าสู่ยุคของ “รถยนต์ไฟฟ้า” สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของจีน ที่จะเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว เนื้อหาของบทความระบุไว้น่าสนใจอย่างยิ่ง ดังนี้

 

[caption id="attachment_220474" align="aligncenter" width="503"] บรรยากาศภายในงาน บรรยากาศภายในงาน[/caption]

… แผนปฏิบัติการสนับสนุน “รถอีวี” ...
ภายในงาน International Forum on Chinese Automotive Industry Development ซึ่งจัดขึ้น ณ Tianjin Economic-Technological Development Area มหานครเทียนจิน เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา นายซิน กั๋วปิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน ได้กล่าวว่า หลายประเทศได้กำหนดกรอบเวลาในการยุติการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานดั้งเดิมแล้ว และปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเอง ก็ได้เริ่มต้นการวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยจะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการกำหนดกรอบเวลาของจีน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมและเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง

ถ้อยแถลงดังกล่าว นับเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีนไปยังทุก ๆ ภาคส่วน ให้เตรียมพร้อมสำหรับการยุติการผลิตรถยนต์พลังงานดั้งเดิม หรือ รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน และจะแทนที่ด้วยรถยนต์พลังงานใหม่ หรือ “รถยนต์ไฟฟ้า” แม้จะยังไม่ประกาศกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่ก็มั่นใจได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่ง นายซิน กั๋วปิน ยังได้ส่งสารไปถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนโดยตรง ว่า “อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องยึดแผนนี้เป็นแนวทาง และต้องยึดรถยนต์พลังงานใหม่และรถยนต์เครือข่ายอัจฉริยะเป็นเป้าหมาย”

สำหรับ “ยูนนาน” เอง แม้ไม่มีโรงงานผลิตรถยนต์ในมณฑล แต่ “นครคุนหมิง” เมืองเอกของยูนนาน ก็มีการตื่นตัวตอบรับกระแสการมาของ “รถยนต์ไฟฟ้า” อย่างคึกคัก เห็นได้จากตั้งแต่ปี 2559 นครคุนหมิงได้จัดงานแสดงรถยนต์ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ปีละ 2 ครั้ง แยกเป็นเอกเทศจากการจัดงานแสดงรถยนต์ทั่วไป

 

[caption id="attachment_220476" align="aligncenter" width="503"] รถบัสไฟฟ้าของผู้ผลิตจีน รถบัสไฟฟ้าของผู้ผลิตจีน[/caption]

… ติดตั้ง “สถานีชาร์จไฟ” ให้ทั่วถึง ...
การส่งเสริมความนิยมต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ขับขี่ “รถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งนครคุนหมิงได้ออกประกาศ “แผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี (2559-2561) ว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า” กำหนดเป้าหมายในการสร้างสถานีเติมไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 67 แห่ง โดยมีหัวจ่ายไฟฟ้า 7,700 หัว จากปัจจุบันที่มีสถานีเติมไฟฟ้ารถยนต์ 41 แห่ง โดยมีหัวจ่ายไฟฟ้า 1,767 หัว นอกจากนี้ ยังได้กำหนดเป้าหมายระยะยาวถึงปี 2563 ว่า จะมีสถานีเติมไฟฟ้ารถยนต์ 122 แห่ง โดยมีหัวจ่ายไฟฟ้า 35,800 หัว อีกด้วย

นอกจากนี้ “แผนปฏิบัติการ” ดังกล่าว ยังกำหนดนโยบายส่งเสริมอีกหลายประการ ได้แก่ การจัดสรรพื้นที่สำหรับจอดรถยนต์ไฟฟ้าฟรี 2 ชั่วโมงแรก ยกเว้น การบังคับใช้กฎหมายห้ามรถยนต์หมายเลขทะเบียนคู่หรือคี่ ในวันคู่หรือวันคี่ กับรถยนต์ไฟฟ้า, จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับหน่วยงานหรือบุคคลที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า และกำหนดให้หมู่บ้านจัดสรรที่สร้างใหม่ต้องติดตั้งหัวจ่ายไฟฟ้าสำหรับที่จอดรถทุกคัน

 

[caption id="attachment_220472" align="aligncenter" width="503"] สถานีชาร์จไฟสำหรับรถอีวีบนทางหลวงของมณฑลยูนนาน สถานีชาร์จไฟสำหรับรถอีวีบนทางหลวงของมณฑลยูนนาน[/caption]

กระแสพลังงานสะอาด หรือ Clean Energy นับเป็นกระแสที่หลายประเทศตื่นตัว อะไรที่สร้าง Carbon Footprint ทำลายสิ่งแวดล้อมเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ “Out” ขณะที่ นวัตกรรมสีเขียวหรือประหยัดพลังงาน กลายเป็นสิ่งที่ “In” จีนเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่ตามกระแสนี้เช่นกัน โดยปรับตัวเองจากประเทศที่เคยถูกมองว่า สร้างมลพิษมหาศาล มาเป็นประเทศที่มีพัฒนาการโดดเด่นในการรักษาสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ก็มีนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนและมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย และเมื่อมีนโยบายนำมาแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่า จะมุ่งหน้าไปทางพลังงานสีเขียวหรือไม่ แต่ที่น่าคิด คือ ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งผลิตรถยนต์และส่วนประกอบแหล่งใหญ่ ซึ่งถ้าไม่ปรับตัวตามกระแส “รักษ์โลก” ก็อาจเสียสถานะแหล่งผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก ให้กับแหล่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอื่นก็ได้

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19-21 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว