สำรวจเส้นทางสายไหม ณ “เมืองตุนหวง”

12 ต.ค. 2560 | 14:45 น.
สำรวจเส้นทางสายไหม ณ “เมืองตุนหวง" โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ | โครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road หรือ Belt and Road) ของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้เสนอความคิดริเริ่มเมื่อ 4 ปีก่อน วันนี้นอกจากได้รับการขานรับจากนานาประเทศในเส้นทางที่ยินดีเข้าร่วมแล้ว ยังอยู่ในความสนใจและติดตามจากทั่วททุกมุมโลกด้วยว่า จะเกิดเป็นรูปธรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างไร


TP10-3304-a

การที่โครงการ Belt and Road เป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องตลอด 4 ปีนั้น เพราะนอกจากรัฐบาลจีน โดยเฉพาะประธานาธิบดีนายสี จิ้นผิง เดินหน้าขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ทั้งเชิญผู้นำจากหลากหลายประเทศร่วมประชุมสัมมนา ทั้งเดินสายเสนอความร่วมมือกับนานาประเทศแล้ว ทุกหน่วยงานของรัฐก็พร้อมเพรียงกันขานรับจัดกิจกรรมเผยแพร่โครงการไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งสื่อมวลชนชั้นนำของจีน อย่าง หนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี่ (People’s Daily) ที่เป็นเจ้าภาพเชิญสื่อมวลชนทั่วโลกเข้าร่วมเวทีความร่วมมือสื่อ Media Cooperation on Belt and Road นับแต่ปี ค.ศ. 2014 ต่อเนื่องจนถึงปีนี้ ซึ่งจัดที่ “เมืองตุนหวง” มณฑลกานซู่ ระหว่างวันที่ 17-22 ก.ย. 2017 โดยมีนักวิชาการและสื่อมวลชนกว่า 300 คน จาก 126 ประเทศทั่วโลก เดินทางไปร่วมงาน ถือเป็นงานชุมนุมสื่อโลกที่ทรงพลังมากที่สุด

เหตุผลสำคัญในการเลือก “เมืองตุนหวง” ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลกานซู่ ทางภาคตะวันตกของจีน เป็นเมืองติดทะเลทรายที่ชายแดนของจีน เป็นสถานที่จัดประชุม ก็เพราะ “ตุนหวง” เป็นเมืองวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของจีน ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมยุคก่อน อดีตเคยเป็นชุมทางการค้าที่เจริญรุ่งเรือง เป็นจุดเริ่มต้นจากจีนไปยังเอเชียกลางและยุโรป ขณะเดียวกัน พ่อค้าจากต่างชาติก็ต้องมาแวะพักที่นี่ “เมืองตุนหวง” จึงเป็นแหล่งบรรจบของอารยธรรมจีนและอารยธรรมตะวันตก ที่แม้แต่องค์การยูเนสโกของสหประชาชาติยังขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม”


TP10-3304-2a

ความโดดเด่นของ “เมืองตุนหวง” ที่เจ้าภาพพาสื่อมวลชนทั่วโลกไปสัมผัส คือ ทะเลทรายโกบี โดยจุดที่ไปชมความสวยงามบนความแห้งแล้ง คือ เนินทรายครวญและทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว “เย่ว์หย่าเฉวียน” ซึ่งก็คือ โอเอซิสกลางทะเลทราย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่เอื้อชีวิตผู้เดินทางและไม่เคยเหือดแห้งมานานนับพันปี ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของ “เมืองตุนหวง” และของประเทศจีน

แต่ที่ถือเป็นไฮไลต์ คือ ถ้ำหินพุทธศิลป์โม่เกา ที่ถือเป็นสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ในศตวรรษที่ 4-10 เพราะสร้างต่อเนื่องมานานนับพันปีในช่วงหลายราชวงศ์ ส่วนใหญ่ในยุคราชวงศ์ถัง โดยใช้แรงงานคนขุดเจาะตามหน้าผาของเขาจำนวนมากถึง 735 ถ้ำ แต่ละถ้ำจะมีภาพวาดจิตรกรรมบนผนังและเพดานถ้ำ รูปปั้นพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ที่สวยงามล้ำค่า

ถ้ำแห่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่พาชม ได้ชี้ให้เห็นภาพวาดที่กล่าวถึงพระเสวียนจั้ง หรือ “พระถังซำจั๋ง” หนึ่งในตัวละครเรื่อง “ไซอิ๋ว” หรือที่คนจีนเรียกว่า “ซีโหย่วจี้” ยอดวรรณกรรมอมตะของจีน ที่เป็นบันทึกการเดินทางสู่ชมพูทวีปตามบัญชาของฮ่องเต้ราชวงศ์ถัง เพื่อไปอัญเชิญพระไตรปิฎกกลับมายังจีน

ปัจจุบันทางการจีนให้การดูแลรักษาถ้ำตุนหวงอย่างดี จึงเปิดให้เข้าชมเพียงไม่กี่ถ้ำ ที่สำคัญคือ ไม่เปิดไฟภายในถ้ำและ “ห้ามถ่ายรูป” เพื่อรักษาสภาพให้คงอยู่เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง


TP10-3304-1a

สำหรับสาระจากเวทีความร่วมมือสื่อนั้น นายหยาง เจิ้นอู่ ประธานหนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี่ กล่าวว่า เป็นการเดินตามจิตวิญญาณของการประชุมใหญ่ Belt and Road Forum International Cooperation ซึ่งจีนได้เชิญผู้นำจากทั่วโลกร่วมประชุมที่กรุงปักกิ่งเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเน้นเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ การสร้างผลประโยชน์ร่วม และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ก้าวต่อไปของความร่วมมือสื่อในเรื่อง Belt and Road คือ การสร้างศูนย์ความร่วมมือและกลไกร่วมรายงานข่าว การเปิดศูนย์วิจัยปัญหาระหว่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรม Belt and Road จัดตั้งสหภาพความร่วมมือระดับภูมิภาค รวมไปถึงจัดพิมพ์หนังสือรายงานความคืบหน้าเรื่อง Belt and Road 2 ภาษา คือ จีน-อังกฤษ

เส้นทางสายไหมในอดีตมีระยะทางยาวไกลและใช้เวลายาวนานนับพันปี โครงการ Belt and Road หรือ เส้นทางสายไหมยุคใหม่ เพิ่งจะผ่านมาแค่ 4 ปี จึงยังมีเรื่องให้ติดตามกันอีกแบบไม่รู้จบ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12-14 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1