ยุคเฟื่องฟูโครงสร้างพื้นฐาน ในภูมิภาคเอเชีย

04 ต.ค. 2560 | 05:11 น.
รายงานของเอดีบีล่าสุด เรื่อง Meeting Asia’s Infrastructure Needs ระบุว่า ความต้องการโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกนั้นยังมากกว่าโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่มาก โดยภูมิภาคจะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกมากกว่า 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างปี ค.ศ. 2016-2030 หรือ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เพื่อให้ภูมิภาคสามารถรับมือกับการเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ และปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยจำนวนเงินที่ต้องลงทุนมีมูลค่า 2 เท่าของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ณ ปัจจุบันในแต่ละปี

ดังนั้น เราจะสามารถลดช่องว่างการลงทุนดังกล่าวลงได้อย่างไรในขณะที่รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคเอเชียไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงนี้ได้เพียงลำพังและภาคเอกชนก็ยังไม่พร้อมที่จะเข้ามาแบกรับความเสี่ยงมากนัก การกระทำและตัดสินใจร่วมกันจึงเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถผลักดันภูมิภาคให้ก้าวไปข้างหน้า ไม่เช่นนั้น ภูมิภาคจะเสียโอกาสทาง การเติบโต และประเทศในภูมิภาคต้องใช้เวลายาวนานขึ้นเพื่อให้ประชากรหลุดพ้นจากความยากจน

ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนแก่เราว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ยกตัวอย่างในช่วงทศวรรษที่ 1800 ได้มีการสร้างรางรถไฟข้ามทวีปในสหรัฐอเมริกาและระบบรางในสหราชอาณาจักรและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีส่วนช่วยปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมของประเทศเหล่านี้อย่างมาก และนี่คือตัวอย่างของความสำเร็จจากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเสาหลักที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

1 ศตวรรษต่อมา การขยายโครงข่ายถนนเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า และการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นอีกถึง 10 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และช่วยให้ประชากรกว่าพันล้านคนสามารถหลุดพ้นจากสภาวะความยากจนได้ โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวมาจากภาครัฐ

TP10-3301-A ในปัจจุบัน มีเพียงบางประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ อย่างเช่นประเทศจีน ที่มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานใกล้เคียงกับความต้องการการลงทุนที่จำเป็น ภูมิภาคเอเชียจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยมากถึง 5% ต่อปีตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี ค.ศ. 2030 ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานจึงจำเป็นต้องตามให้ทันกับอัตราการเติบโตดังกล่าว ถ้าหากไม่นับรวมประเทศจีน ช่องว่างของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นอีก 5% ของ GDP

ภาครัฐสามารถลดช่องว่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวได้โดยการระดมทุน นอกจากนี้ ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ภาครัฐสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศโดยการปฏิรูปภาษีและปรับเปลี่ยนการจับจ่ายใช้สอย เช่น ลดเงินอุดหนุนภาคพลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังต้องกำหนดทิศทางที่แน่ชัดว่าจะสามารถกู้เงินเพิ่มได้หรือไม่ขณะที่ยังคงสามารถรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในภาวะที่บริหารจัดการได้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของภาครัฐดังที่กล่าวมาสามารถลงทุนได้เพียง 2 ใน 5 ของความต้องการเงินลงทุนที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้นเพื่อปิดช่องว่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างสมบูรณ์ ภูมิภาคเอเชียต้องจุดพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้ฟื้นคืนมาอีกครั้ง เช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคการพัฒนาระบบรางขนส่งเฟื่องฟูในศตวรรษที่ 19 ของสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยการระดมทุนจากภาคเอกชนจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า หรือ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ตลอดจนถึงปี ค.ศ. 2020 ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีปัญหาการขาดแคลนเงินทุน เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียสามารถออมเงินได้มากกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ในขณะที่สินทรัพย์ระยะยาวทั่วโลกมูลค่า 75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯของนักลงทุนสถาบันได้
ถูกใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้น
ฐานเพียง 1% ของมูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าว

**3ปัจจัยกระตุ้นการลงทุน
ปัจจัยแรก คือ หากตลาดทุนมีความลึกขึ้นก็จะเป็นช่องทางในการนำเงินออมของภูมิภาคและเงินทุนระยะยาวของโลกไปลงทุนในสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานได้ เครื่องมือทางการเงิน เช่น การคํ้าประกันหุ้นกู้สามารถดึงดูดนักลงทุนระยะยาวอย่างกองทุน บำเน็จบำนาญและกองทุนประกันภัยให้สนใจลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้มากขึ้น การเสริมสร้างสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้เข้มแข็งสามารถช่วยเร่งการพัฒนาของตลาดตราสารหนี้ และดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนได้เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของประเทศมาเลเซียเมื่อเร็วๆ นี้

ปัจจัยที่ 2 คือ ตลาดเศรษฐกิจจะต้องสร้างและรักษาเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนส่วนมากกระตือรือร้นกับเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่จะสามารถนำมาใช้ระดมทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น พันธบัตรสีเขียวที่ลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(climate- friendly green bonds) แต่นักลงทุนเหล่านี้จะไม่แบกรับความเสี่ยงที่เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ ที่อาจหายไป เช่น เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคและทางการเมือง หลักธรรมาภิบาล การปกป้องนักลงทุนที่เพียงพอ และกฎหมายและข้อระเบียบที่คาดเดาได้และสมเหตุสมผล

ปัจจัยที่ 3 คือ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (public-private partnerships) ควรได้รับการสนับสนุนผ่านขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างและการประมูลที่สอดคล้องกัน รวมทั้งการมีกลไกระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะพัฒนาแผนงานโครงการที่มีศักยภาพได้ ศูนย์การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนของประเทศฟิลิปปินส์สามารถระดมทุนจากภาคเอกชนได้มากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ 15 โครงการลงทุน ทั้งนี้รัฐบาลประเทศอื่นๆ อาจต้องให้สิทธิประโยชน์ในลักษณะคล้ายกันกับของประเทศฟิลิปปินส์เพื่อดึงดูดให้ภาค
เอกชนมีส่วนร่วมในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น

ผมมั่นใจว่าภูมิภาคเอเชียจะสามารถลดช่องว่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้ได้ ทั้งนี้ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องทำงานร่วมกัน โดยการเรียนรู้จากอดีต เพื่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว