"แองเกลา แมร์เคิล"นั่งเก้าอี้นายกฯเยอรมนีต่อสมัยที่ 4 เสริมความแข็งแกร่งให้ EU

26 ก.ย. 2560 | 07:03 น.
Angela Merkel นั่งเก้าอี้นายกฯ เยอรมนีต่อเป็นสมัยที่ 4 เสริมความแข็งแกร่งให้ EU

Event

ผลการนับคะแนนในคืนวันเลือกตั้งที่ 24 ก.ย. (ตามเวลาเยอรมนี) เผยว่าพรรค Christian Democratic Union (CDU) และ Christian Social Union in Bavaria (CSU) ของ Angela Merkel(แองเกลา แมร์เคิล) มีคะแนนเสียงรวมกันเป็นอันดับ 1 ที่ 32.8% ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างพรรค Social Democratic Party (SPD) ของ Martin Schulz ผู้มีแนวคิดสนับสนุน EU เช่นเดียวกันกับ Angela Merkel ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 ที่ 20.4% โดยผลการเลือกตั้งสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์และผลโพลก่อนการเลือกตั้ง อีกทั้งยังชี้ว่าชาวเยอรมนีจำนวนมากยังคงให้การสนับสนุน Angela Merkel ให้เป็นเสาหลักของเยอรมนีและ EU ต่อไป แม้ว่ากระแสต่อต้านผู้อพยพในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะทำให้คะแนนเสียงของพรรค CDU/CSU ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 70 ปี ทั้งนี้ แม้พรรค CDU/CSU จะไม่ได้เสียงข้างมากในสภา แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า Angela Merkel จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีต่อเป็นสมัยที่ 4 ได้อย่างราบรื่น

พรรค Alternative for Germany (AfD) ผู้มีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพและต้องการแยกตัวออกจาก EU ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 3 อยู่ที่ราว 13% ซึ่งนับว่าเป็นคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2013 ที่พรรค AfD ได้รับคะแนนเสียงเพียง 1.9%  และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดได้กลับมานั่งเก้าอี้ในรัฐสภาเยอรมนีอีกครั้ง

ชัยชนะของ Angela Merkel ตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นและส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมนีและพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ลดลงนับตั้งแต่การเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศสในรอบสุดท้าย (รูปที่ 1 และ 2) ทั้งนี้ ผลตอบรับจากตลาดการเงินภายหลังผลการเลือกตั้งไม่ผันผวนมากนักและตอบสนองในทางบวกเนื่องจากพรรคตัวเต็งสำคัญทั้งสองฝ่ายต่างมีแนวคิดสนับสนุน EU ทั้งสิ้น อีกทั้งคะแนนเสียงของพรรค AfD ซึ่งมีแนวคิดต่อต้าน EU ไม่ได้สูงเกินกว่าที่ผลโพลเบื้องต้นชี้ไว้มากนัก

Angela Merkel พร้อมนำเยอรมนีเดินหน้าแผนปฏิรูป EU ร่วมกับฝรั่งเศส ผลโหวต Brexit และกระแสต่อต้าน EU ที่ค่อนข้างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็น 2 เสาหลักที่สำคัญของ EU เล็งเห็นความจำเป็นในการปฏิรูป EU เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับสหภาพและเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอย่างในกรณีของ Brexit อีก ทั้งนี้ ผลเลือกตั้งผู้นำเยอรมนีที่เป็นไปตามคาดช่วยให้ฝรั่งเศสและเยอรมนีรวมถึงประเทศอื่นๆ ใน EU สามารถเดินหน้าแผนปฏิรูป EU ได้ ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของ EU ในระยะยาว โดย Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะกล่าวถึงรายละเอียดของแผนการปฏิรูปเบื้องต้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 26 กันยายน 2017 (ตามเวลาฝรั่งเศส) ซึ่งจะประกอบไปด้วยประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายเสริมความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจยูโรโซน นโยบายด้านความมั่นคงและการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย นโยบายต่อผู้อพยพ รวมถึงการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันด้านสังคมและวัฒนธรรมของสมาชิกใน EU

อย่างไรก็ดี ชัยชนะของฝ่ายสนับสนุน EU ในเยอรมนีและฝรั่งเศสเพิ่มแรงกดดันให้กับการเจรจา Brexit Angela Merkel และ Emmanuel Macron มีมุมมองต่อ Brexit ที่คล้ายคลึงกัน คือต้องการปฏิรูปและสร้างความแข็งแกร่งให้กับสหภาพยุโรป ดังนั้น เงื่อนไขการเจรจา Brexit ไม่ควรเป็นไปได้โดยง่ายและจะไม่มี Free Brexit ไม่เช่นนั้นจะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ อีกทั้งยังมองว่าหลักการตลาดเดียวของ EU  เป็นสิ่งสำคัญ (Nothing but the Single Market) ดังนั้น UK ควรออกจากตลาดเดียวของ EU (หรือที่เรียกว่า Hard Brexit) หาก UK ต้องการควบคุมจำนวนผู้อพยพ แต่ในขณะเดียวกัน Theresa May นายกรัฐมนตรีของ UK กลับต้องเผชิญอุปสรรคสำคัญจากการเมืองภายในประเทศ เนื่องจากผลการเลือกตั้งทั่วไปของ UK เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาออกมาว่า Theresa May จำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเนื่องจากพรรค Conservative ของ Theresa May ไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ ซึ่งทำให้การผ่านร่างกฎหมายต่างๆ เป็นไปได้ยากขึ้นและส่งผลให้การเจรจา Brexit ยิ่งล่าช้า อีกทั้งพรรคร่วมรัฐบาลของ Theresa May ยังมีแนวคิดที่เป็นไปในทาง Soft Brexit คือไม่ต้องการให้ UK ออกจากตลาดเดียวของ EU แรงกดดันจากทั้งฝั่ง EU และการเมืองใน UK ที่กล่าวข้างต้นอาจทำให้ Theresa May อาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลง Brexit ได้ง่ายและรวดเร็วอย่างที่ตั้งใจไว้ โดยในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด คือ UK จำเป็นต้องออกจาก EU แบบ “No Deal”  หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในเดือนมีนาคม 2019

Implication

ผลการเลือกตั้งเยอรมนีที่เป็นไปตามคาดช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโตได้ต่อเนื่องในปี 2017 ชัยชนะของ Angela Merkel ตอกย้ำมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจยูโรโซน โดยเฉพาะการคลายความกังวลต่อกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซนอย่างเยอรมนี และการสานต่อนโยบายและการปฏิรูป EU ที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

ยูโรโซนในระยะยาว ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 1.9% ในปี 2017 เพิ่มสูงขึ้นจาก 1.7% ในปี 2016 และจะสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยไปยูโรโซนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยไทยมีสัดส่วนในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวถึง 12% ของส่งออกทั้งหมด นำโดย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (รูปที่ 3)

แผนปฏิรูป EU ชี้ชะตาสหภาพยุโรป ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2017 คือการเลือกตั้งผู้นำในประเทศหลักทั้ง เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ หรือแม้กระทั้ง UK ท่ามกลางความนิยมของพรรคต่อต้าน EU ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ปะทุทั่วโลก อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งต่างออกมาว่าประชาชนส่วนมากยังเชื่อมั่นใน EU ซึ่งทำให้ฝ่ายสนับสนุน EU ในประเทศดังกล่าวยังคงได้รับตำแหน่งผู้นำต่อเนื่องไปอีก 4 ปี ทั้งนี้ ระยะเวลา 4 ปีข้างหน้านับว่ามีความสำคัญต่อฝ่ายสนับสนุน EU เป็นอย่างมาก เนื่องจากหากผู้นำสามารถปฎิรูปให้ EU แข็งแกร่งขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นต่อสหภาพให้กลับมาได้อีกครั้งก็จะสร้างความมั่นคงให้กับสหภาพ ในทางกลับกัน หากการปฏิรูปไม่เป็นผลสำเร็จหรือมีความวุ่นวายเกิดขึ้นอีก เช่น ปัญหาผู้อพยพ หนี้เสียของภาคธนาคารในอิตาลี หรือวิกฤติหนี้กรีซ อาจทำให้คะแนนนิยมของพรรคต่อต้าน EU เพิ่มขึ้นอีกได้ รวมถึงอาจสร้างความแตกร้าวและเป็นจุดจบของการใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันใน EU

จับตาการเลือกตั้งผู้นำอิตาลีในปี 2018 นอกเหนือจากการเจรจา Brexit ความเสี่ยงจากปัจจัยด้านการเมืองต่อเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังคงมีอยู่คือการเลือกตั้งผู้นำอิตาลีที่จะมีขึ้นก่อนเดือนพฤษภาคม 2018 โดยผลสำรวจ ณ เดือนกันยายน ชี้ว่าพรรคที่ต้อต้าน EU อย่าง 5-Star Movement (M5S) กำลังมีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับ 1 ที่ 27.6% ขณะที่พรรค PD ของอดีตนายกรัฐมนตรี Matteo Renzi มีคะแนนเสียงลดลงอยู่ที่ 26.8%  ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังของอิตาลี โดยเฉพาะภาคธนาคาร ส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรค M5S เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพรรค M5S สามารถครองเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้ ย่อมมีการผลักดันให้เกิดการลงประชามติเพื่อถอนตัวออกจาก EU ในระยะต่อไป

รูปที่1 และ 2: ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจเยอรมนีและ EU เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบสุดท้าย

eic0925-1 eic0925-2 ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg

รูปที่ 3: เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบและรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าส่งออกหลักจากไทยไปยังสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร

eic0925-3 ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

โดย : พิมพ์นิภา บัวแสง ([email protected])

Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

ขอบคุณภาพ : สำนักข่าวซินหัว