ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ‘โรฮิงญา’ จุดเริ่มต้น... วิกฤตการณ์โลก

17 ก.ย. 2560 | 08:04 น.
 

วิกฤติโรฮิงญาที่เริ่มต้นเป็นปัญหาในประเทศเมียนมา เริ่มลามเป็นปัญหาระดับภูมิภาค และอาจกลายเป็นวิกฤติระดับโลก?

 

นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ยกเลิกแผนการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 72 ซึ่งจะจัดขึ้นในปลายเดือนนี้ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยให้เหตุผลว่ามีเรื่องสำคัญในประเทศที่ต้องจัดการ และระบุว่ามีรายงานแผนการก่อการร้ายในเมืองอีกด้วย

 

บทความจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์วิเคราะห์ว่าข้อมูลนี้อาจเป็นความจริง แต่เหตุที่นางอองซาน ซูจีตัดสินใจอยู่เมียนมา น่าจะเป็นเพราะกระแสความไม่พอใจจากทั่วโลกกับวิธีที่รัฐบาลปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา ที่สหประชาชาติเรียกว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

ถือเป็นเรื่องดีที่ทั่วโลกให้ความสนใจในแง่มนุษยธรรม แต่ยังมีอีกด้านที่เกี่ยวโยงกับข่าวนี้ คือการสร้างความโกรธเคืองให้ชาวมุสลิมทั่วโลกที่เห็นเพื่อนร่วมศาสนากลายเป็นผู้ถูกกระทำ

 

2-3  สัปดาห์ที่ผ่านมา การอพยพครั้งใหญ่ของชาวโรฮิงญากลายเป็นปัญหามนุษยธรรมระดับนานาชาติ ชาวมุสลิมทั่วโลก ต่างออกมาแสดงความไม่พอใจและเรียกร้องความยุติธรรมให้ชาวโรฮิงญา

 

วิกฤติโรฮิงญาได้เริ่มสร้างความขัดแย้งในอินเดีย เมื่อชาวฮินดูออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีของพวกเขาขับชาวโรฮิงญาออกจากประเทศ แต่นเรนทรา โมดี เป็นหนึ่งในผู้นำโลกไม่กี่คนที่ออกมาสนับสนุนนโยบายของเมียนมา ขณะที่ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเริ่มแสดงความไม่พอใจกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยมุสลิม

 

บ่อยครั้งในอดีตที่ผู้นำในโลกมุสลิมจะฉวยโอกาสเหล่านี้ในการสร้างภาพลักษณ์การเป็นผู้นำ ประธานาธิบดีตุรกี เทยิป ออโดกันส่งภรรยาของเขาและรัฐมนตรีต่างประเทศพร้อมความช่วยเหลือไปยังชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ ขณะอิหร่านออกมาประณามสถานการณ์โรฮิงญาว่าเป็นแผนการของอิสราเอล ส่วนซาอุดิอาระเบียได้ออกมาวิพากย์วิจารณ์เมียนมาอย่างหนักหน่วง
ตัวอย่างที่น่าแปลกสุดน่าจะเป็นผู้นำเชชเนียเชื้อสายรัสเซียที่ชวนคนเรือนหมื่นออกมาสนับสนุนชาวโรฮิงญา แต่สื่อท้องถิ่นเมินเฉยการรายงาน โดยนักวิเคราะห์มองว่าเป็นความพยายามสร้างเครดิตการเป็นผู้นำมุสลืมโลก

 

สิ่งที่ชัดเจนคือนโยบายเมียนมาต่อชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาที่คนทั่วโลกรับรู้ ที่ผ่านมา วิกฤติชาวโรฮิงญาเคยเป็นเพียงอุปสรรคต่อการก้าวสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบของเมียนมา แต่ตอนนี้กลายเป็นพิษทางการเมืองระดับนานาชาติ ที่ประชาคมโลกต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างก่อนสายเกินไป