ประเทศเอเชียหนี้ท่วม ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มท่ามกลางดอกเบี้ยเฟดขาขึ้น

27 เม.ย. 2560 | 14:00 น.
ภูมิภาคเอเชียเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมายาวนานหลายปี แต่ภาวะหนี้สินของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก็ได้เริ่มสร้างความกังวลแล้วว่าอาจจะก่อให้เกิดปัญหาและจะมีผลชะลอศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะท่ามกลางบริบทที่ดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกากำลังเข้าสู่ทิศทางขาขึ้นตามที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศไว้

แนวโน้มดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า ในปี 2560 และ 2561 เศรษฐกิจของเอเชียน่าจะขยายตัวที่อัตรากว่า 5 % ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3 % เท่านั้น

นักวิเคราะห์ระบุว่า ปัญหาหนี้ที่พอกพูนขึ้นในเอเชียนั้นเป็นผลมาจากประเทศเอเชียส่วนใหญ่ใช้นโยบายตรึงดอกเบี้ยต่ำมานานหลายปี อีกทั้งธนาคารยังปล่อยสินเชื่ออย่างอิสระตามนโยบายของรัฐที่ต้องการให้ปล่อยกู้เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางธุรกิจรวมทั้งเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนมาเป็นบริบทของดอกเบี้ยขาขึ้น ประเทศที่ก่อหนี้สินในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯจึงมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายสูงขึ้น ทั้งนี้ จากการรวบรวมของสำนักวิจัยบลูมเบิร์กพบว่า ในยอดหนี้หุ้นกู้รวมของเอเชียเกือบๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดชำระหนี้ในปี 2021 นั้น 63% เป็นหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ และ 7% อยู่ในรูปสกุลเงินยูโร ฉะนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯแข็งแกร่งขึ้นและสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น การชำระหนี้ก็จะเป็นภาระหนักหน่วงมากขึ้นตามไปด้วย

 IMFเร่งจีนแก้ปัญหาหนี้เอกชน
มีตัวเลขประมาณการว่า ในปีที่ผ่านมา (2559) หนี้โดยรวมของจีนได้ขยับสูงขึ้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 258% ของจีดีพี เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับสัดส่วน 158% ในปี 2548 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และคณะรัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่มากจนล้นเกินของธนาคารและจัดลำดับสิ่งที่เป็นความสำคัญเร่งด่วนในปีนี้ แต่กระบวนการเหล่านั้นก็ดูจะคืบหน้าไปอย่างช้าๆ

หนี้ส่วนใหญ่ของจีนเป็นหนี้ของบริษัทนิติบุคคล และส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ก็คือหนี้ของบรรดารัฐวิสาหกิจที่พอกพูนมานานปี จนถูกขนานนามว่า “วิสาหกิจซอมบี้” กระทั่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ต้องมาออกโรงเตือนว่า รัฐบาลจีนจำเป็นจะต้องเร่งสะสางปัญหาหนี้ของบริษัทอย่างเร่งด่วนแล้ว

ที่น่ากังวลมากเช่นกันคือ ภาวะหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ปัญหา “ธนาคารเงา” หรือชาโดว์ ไฟแนนซิ่ง ซึ่งเป็นการทำธุรกรรมปล่อยสินเชื่อโดยไม่ได้รับการกำกับดูแลที่เหมาะสมจากทางการ และปัญหาการปล่อยกู้นอกระบบ สัญญาณเตือนเริ่มปรากฏออกมาแล้วมากมาย อาทิ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่ทะยานสูงขึ้น และการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของวิสาหกิจในสังกัดรัฐบาลท้องถิ่นที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในมณฑลเจียงสูเมื่อไม่นานมานี้

ด้านเกาหลีใต้ สถานการณ์ไม่ค่อยดีนักเช่นกัน หลังจากที่คงดอกเบี้ยในอัตราต่ำมานานหลายปีซึ่งช่วยให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์บูมและกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของเกาหลีใต้ชยับขึ้นสู่ระดับ 1,344.3 ล้านล้านวอน (1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเป็นภาระที่มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในเกาหลีใต้ขยับสูงขึ้นด้วย ยิ่งเป็นปัจจัยทำให้ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำเริ่มเกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกโออีซีดีที่มีตัวเลขภาระหนี้สินสูงติดอันดับต้นๆ โดยในปี 25588 หนี้ครัวเรือนของเกาหลีใต้มีสัดส่วนคิดเป็น 169 % ของรายได้ครัวเรือน ขณะที่อัตราที่เป็นเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศสมาชิกโออีซีดีนั้นอยู่ที่ 129 %

  หนี้ญี่ปุ่นสูงแต่เสี่ยงน้อยกว่า
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่มีหนี้สูงที่สุดในโลก โดยหนี้ภาครัฐโดยรวมมีมากกว่าขนาดของจีดีพีกว่า 2.5 เท่า แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะตั้งเป้าพลิกสถานะขาดดุลงบประมาณให้เป็นเกินดุลงบประมาณให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปีปีค.ศ. 2020 แต่ความจริงที่เห็นคือดูจะเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม การที่ญี่ปุ่นออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นจำนวนมากและมีการลงทุนในสินทรัพย์ภายในประเทศในระดับสูง มีส่วนช่วยบรรเทาภาระหนี้ในภาพรวมได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ หนี้ของบริษัทเอกชนญี่ปุ่นส่วนใหญ่และหนี้ทั้งหมดของรัฐบาล อยู่ในรูปสกุลเงินเยน อีกทั้งพันธบัตรรัฐบาลก็อยู่ในมือเจ้าหนี้ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นญี่ปุ่นจึงมีความเสี่ยงในเรื่องเงินทุนไหลออกน้อยกว่า

  หนี้อาเซียนขยายตามการเติบโต
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีหนี้ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของเอเชีย แต่การกู้ยืมเงินที่ก่อให้เกิดภาระจ่ายดอกเบี้ยตามมาก็ยังคงเพิ่มมากขึ้นในระยะหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ปัญหาหนี้บริษัทเอกชนและหนี้ครัวเรือนเพิ่มระดับน่าเป็นห่วงมากขึ้นโดยเฉพาะในไทยและมาเลเซีย

จากรายงานของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ที่ศึกษาการกู้ยืมในประเทศเอเชียระหว่างเดือนมิถุนายน 2008 ถึงมิถุนายน 2016 พบว่า ภาระหนี้ในภาพรวมของมาเลเซียเพิ่มขึ้นจาก 173% ของจีดีพีเป็น 240% ของจีดีพี นับเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียที่มีอัตราการเพิ่มของหนี้มากที่สุดในระยะ 8 ปี และทำให้มาเลเซียที่เป็นประเทศรายได้ระดับกลาง กลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีในระดับไล่เลี่ยกับประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย อังกฤษ และอิตาลี

[caption id="attachment_143344" align="aligncenter" width="503"] ประเทศเอเชียหนี้ท่วม ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มท่ามกลางดอกเบี้ยเฟดขาขึ้น ประเทศเอเชียหนี้ท่วม ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มท่ามกลางดอกเบี้ยเฟดขาขึ้น[/caption]

อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีภาระหนี้มากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ แต่ก็เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดหรือร่ำรวยที่สุดเช่นกัน (ในอาเซียน)

ส่วนฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียนั้น แม้จะมีอัตราการกู้ยืมต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค แต่ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากอุตสาหกรรมภาคการธนาคารมีพัฒนาการน้อยกว่าประเทศอื่น ทำให้ครัวเรือนทั่วไปกู้ยืมเงินได้ยาก นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศเคยผ่านวิกฤตการเงินทำให้มีกฎเกณฑ์ควบคุมการเงินการคลังที่เข้มงวด ทำให้สามารถตรึงการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 3% ของจีดีพีมาได้หลายปี และมีสัดส่วนหนี้รวมเพียง 60% ของจีดีพีเท่านั้น

นักวิเคราะห์มองว่า การก่อหนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ตราบใดที่ยังมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจยังคงมีการขยายตัว โดยไม่มีอุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ เช่นวิกฤติการเงินเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ภาระหนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560