สหรัฐฯเดินสายเอเชีย‘ทิลเลอร์สัน’ ปูทางกระชับมิตร

25 มี.ค. 2560 | 14:00 น.
นโยบายของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อประเทศคู่ค้าในเอเชียนั้นยังขาดความชัดเจน ซ้ำนโยบายหลักที่เน้นแนวคิด "อเมริกาต้องมาก่อน" มุ่งสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นสำคัญ พร้อมกับการส่งสัญญาณเตือนไปยังประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯว่าจะต้องมีการเจรจาทบทวนข้อตกลงที่เคยมีมาเสียใหม่หรือปรับรูปแบบการค้าที่เคยปฏิบัติกันมา ทำให้หลายประเทศตั้งตารอการเจรจากับสหรัฐฯอย่างเป็นทางการเพื่อสามารถปรับจูนเข็มทิศการค้า-การลงทุนระหว่างกัน ให้เสียประโยชน์น้อยที่สุดและสร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่มีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล คือนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือน 3 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชียอย่างเป็นทางการในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-18 มีนาคม 2560) คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน เป็นการหยั่งเชิงดูท่าทีของทั้ง 3 ประเทศที่มีต่อรัฐบาลชุดใหม่ (พร้อมนโยบายใหม่) ของสหรัฐฯ ซึ่งเร็กซ์กล่าวย้ำว่า สหรัฐฯต้องการมากระชับมิตรและแสวงหาความร่วมมือ โดยเฉพาะกับญี่ปุ่นนั้น มีการพบปะระดับผู้นำมา 2 ครั้งแล้ว และมีการรายงานข่าวทางสื่อญี่ปุ่นว่า ทรัมป์จะเดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการภายในสิ้นปีนี้

นอกเหนือจากประเด็นทางการเมืองและการหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เกี่ยวกับการรับมือกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่ทดสอบขีปนาวุธอย่างถี่ยิบในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การมาเยือนเอเชียของทิลเลอร์สันยังมีประเด็นทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯเน้นการเจรจาระดับทวิภาคีตามที่ได้ประกาศเอาไว้ โดยประเทศที่สหรัฐฯให้ความใกล้ชิดเป็นมิตรทางการค้ามากที่สุดในเวลานี้ก็คือ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินเกมเร็วต่อติดกับผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯตั้งแต่แรก และเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่ได้พบหารือกับทรัมป์หลังได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง และเมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ อาเบะยังสานต่ออย่างรวดเร็วด้วยการนำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าพบผู้นำสหรัฐฯเพื่อตอกย้ำว่า ญี่ปุ่นพร้อมเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างการจ้างงานให้กับชาวอเมริกัน โดยโตโยต้าย้ำว่าจะขยายการลงทุน(ซึ่งมีอยู่แล้ว)ในสหรัฐฯอย่างแน่นอน ขณะที่บริษัทซอฟต์แบงก์ ผู้นำด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ก็ให้คำมั่นว่าจะนำเงินมาลงทุนในสหรัฐฯกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ พร้อมๆกับแผนการลงทุน ญี่ปุ่นยังเสนอเข้าร่วมประมูลในโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคตอีกด้วย อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง

สำหรับจีนนั้น การพบปะหารือระหว่างทิลเลอร์สันกับนายสี จิ้นผิง นับเป็นการเปิดประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯได้ดีเกินคาด นอกจากการหารือเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการรับมือกับการคุกคามของเกาหลีเหนือแล้ว ทิลเลอร์สันยังช่วยปูทางสำหรับการมาเยือนจีนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ในอนาคต "เราเชื่อว่าด้วยการเจรจาหารือกันต่อไปหลังจากนี้ เราจะสามารถเพิ่มความเข้าอกเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง มั่นคง ระหว่างจีนและสหรัฐฯ และเป็นบาทฐานของความสัมพันธ์ตลอดจนความร่วมมือในอนาคต" ท่าทีของผู้นำจีนก็เช่นกันที่สะท้อนให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ หากผ่านการเจรจาหารืออย่างใกล้ชิดในระดับทวิภาคี ก็อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คิด สัญญาณเชิงบวกอาจจะชัดเจนยิ่งขึ้นหากผู้นำทั้ง 2 ประเทศได้พบกันอย่างเป็นทางการภายในปีนี้

ความสำคัญที่สหรัฐฯให้กับพันธมิตรในเอเชียจะได้รับการตอกย้ำอีกครั้งในการเดินทางเยือนภูมิภาคนี้ของนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำหนดจะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งในการแผนการเยือนเอเชียของนายเพนซ์นั้น ข่าวระบุว่าจะเป็นการเยือน 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ส่วนการเยือนของทรัมป์จะมีขึ้นเมื่อไหร่นั้น ต้องติดตามกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560