OECD ชี้หลากปัจจัยลบ สกัดศก.โลกฟื้นตัว

16 มี.ค. 2560 | 14:00 น.
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เตือนหลากปัจจัยเป็นอุปสรรคฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 3.5 % ในปีหน้า เพิ่มจากอัตรา 3% ในปี 2559 และ 3.3% ในปีนี้ แม้ว่าจะคาดหมายการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งปริมาณการบริโภค การลงทุน การค้า และการผลิต ยังเติบโตในอัตราแผ่วมาก

รายงานการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกของโออีซีดี ซึ่งเผยแพร่ล่าสุดในเดือนมีนาคมศกนี้ ระบุหลากหลายเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญ อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบาย ซึ่งรวมทั้งนโยบายของผู้นำใหม่สหรัฐฯ และความไม่แน่นอนในยุโรปจากกรณีอังกฤษเจรจาถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ความเปราะบางของตลาดการเงิน และความไม่เชื่อมโยงกันและตลาดการเงินและปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลสกัดกันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยอยู่แล้ว

การคาดการณ์ของโออีซีดีครั้งล่าสุดนี้ ไม่แตกต่างมากนักจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยรายงานทั้งสองฉบับปรับลดความน่าไว้วางใจทางเศรษฐกิจทั้งในฝั่งสหรัฐอเมริกาและประเทศในกลุ่มที่ใช้เงินสกุลยูโร (ยูโรโซน) แต่ในรายงานฉบับเดือนมีนาคม โออีซีดีให้น้ำหนักกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปท่ามกลางบริบทที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านได้รับความนิยมจากประชาชนมากยิ่งขึ้น “ในหลายประเทศ (ยุโรป) เกิดความไม่แน่นอนอย่างมาก เกี่ยวกับนโยบายและทิศทางที่จะมุ่งไปในอนาคต” ส่วนหนึ่งของรายงานระบุและว่า หลายประเทศกำลังจะมีการเลือกตั้งและจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มีแนวโน้มด้วยว่ารัฐบาลที่เกิดขึ้นจะเป็นรัฐผสม หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา ซึ่งสภาวะที่ประชาชนขาดความไว้วางใจหรือมีความมั่นใจลดลง จะนำไปสู่ความยากลำบากในการบังคับใช้นโยบายและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมาย

เฉพาะในภูมิภาคยุโรป จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นปีนี้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และมีความเป็นไปได้ว่าจะมีในอิตาลีด้วย ซึ่งทั้ง 4 ประเทศ เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน

นอกจากนี้ รายงานของโออีซีดียังเตือนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของหลายๆประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา เนื่องจากดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้นจะเพิ่มความเปราะบางให้กับตลาดปริวรรตเงินตรา และสามารถนำไปสู่ความปั่นป่วนได้

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะเร็วๆนี้ มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับการเคลื่อนไหวในตลาดปริวรรตเงินตรา โดยดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเยน ขณะที่สกุลเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในกลุ่มกำลังพัฒนาก็ได้รับแรงกดดันอย่างมาก” รายงานของโออีซีดีระบุ

อีกปัจจัยที่เป็นความกังวลคือกระแสการกีดกันทางการค้าจากประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว เช่นกรณีการถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีทีพีพีของสหรัฐอเมริกาภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ที่ต้องการสร้างงานและปกป้องอุตสาหกรรมภายจในประเทศ “การก้าวถอยหลังในกระบวนการการค้าเสรีจะส่งผลลบที่ประเมินค่าไม่ได้ รวมถึงความสูญเสียในแง่การจ้างงานที่เกี่ยวร้อยเชื่อมโยงกันไปทั้งซัพพลายเชนของโลก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,244 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2560