อิหร่านนำขบวนต่อต้านสหรัฐฯ คว่ำบาตรเงินดอลลาร์

09 ก.พ. 2560 | 13:45 น.
เมื่อแรงมาก็แรงไป พลันที่นายโดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามประชาชน 7 ประเทศมุสลิม (อิหร่าน อิรัก โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย ลิเบีย และเยเมน) เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 90 วัน 2 วันให้หลังสื่อท้องถิ่นของอิหร่านก็รายงานข่าวผู้ว่าการธนาคารกลางอิหร่านได้ออกมาประกาศคว่ำบาตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยระบุว่าอิหร่านจะหันไปใช้เงินสกุลอื่นหรือตะกร้าเงินสกุลอื่นที่มีเสถียรภาพสูงเพื่อใช้ในการค้าขายและทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

มาตรการของอิหร่านซึ่งครอบคลุมถึงการค้าน้ำมันดิบจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป (ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่) ไม่เพียงการคว่ำบาตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น อิหร่านยังมีมาตรการตอบโต้อื่นๆ รวมถึงการยกเลิกวีซ่าที่ออกให้แล้วและงดออกวีซ่าใหม่ให้กับชาวอเมริกันที่จะเดินทางมาเยือนอิหร่าน นอกจากนี้ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อิหร่านยังได้ทดสอบขีปนาวุธระยะกลางซึ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากยิ่งขึ้น โดยนายฮอสเซ็น เดห์กัน รัฐมนตรีกลาโหมของอิหร่านออกมาระบุว่า ขีปนาวุธดังกล่าวไม่ได้ออกแบบมาเพื่อติดหัวรบนิวเคลียร์ดังนั้นจึงเท่ากับว่า อิหร่านไม่ได้ละเมิดข้อตกลงว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ที่ให้ไว้กับองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2558

เค้าลางความถดถอยของสัมพันธภาพระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน (ที่ฟื้นตัวขึ้นปลายสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา) เริ่มก่อตัวนับตั้งแต่โดนัลด์ทรัมป์ ประสบชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปี 2559 สกุลเงินเรียลของอิหร่านดำดิ่งลงมาสู่ระดับ 4.16 หมื่นเรียลต่อดอลลาร์ นักวิเคราะห์มองว่าการตอบโต้ของอิหร่านอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของอิหร่านเอง เนื่องจากการค้าน้ำมันดิบในเวทีโลกกำหนดราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงไปใช้เงินสกุลอื่นซึ่งอิหร่านยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะเป็นเงินยูโรหรือเงินตราสกุลอื่นๆของประเทศคู่ค้าสำคัญๆของอิหร่าน เช่น จีน รัสเซีย ตุรกี หรืออิรัก อาจจะทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบของปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หดลดลงเหลือน้อยกว่านั้น

แหล่งข่าวจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิหร่าน หรือ เอ็นไอโอซี เปิดเผยว่า อิหร่านจะหันมาค้าน้ำมันดิบด้วยสกุลเงินยูโร ซึ่งสัญญาซื้อขายที่ทำไว้กับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันนานาชาติหลายราย อาทิ โททาล (ฝรั่งเศส) เซปซาและลิตาสโก (สเปน) และลูคออยล์ (รัสเซีย) เมื่อเร็วๆนี้ จะใช้เงินยูโรเป็นสื่อกลาง ส่วนสัญญาที่รอการชำระเงินจากลูกค้าหรือยังชำระกันไม่หมด ส่วนที่ติดค้างอยู่ ทางอิหร่านก็ต้องการให้ประเทศคู่ค้าชำระเป็นสกุลยูโรเช่นกัน โดยอิหร่านได้แจ้งเจตจำนงไปยังประเทศคู่ค้าแล้ว แม้มาตรการของอิหร่านจะมีจุดเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งก็เห็นว่า ยุโรปเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของอิหร่าน ดังนั้นการหันมาใช้เงินยูโรเป็นสื่อกลางจึงสมเหตุสมผล

ก่อนหน้านี้ อิหร่านเคยโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปครายอื่นๆหันมาค้าน้ำมันดิบด้วยสกุลเงินยูโรแทนดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ อิหร่านเองถูกสหรัฐฯและนานาประเทศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมายาวนานเพิ่งได้รับการผ่อนผันเมื่อปีที่ผ่านมา จึงลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศมานานแล้ว ยกตัวอย่างการค้าน้ำมันดิบกับอินเดีย อิหร่านก็ทำสัญญาให้อินเดียชำระด้วยสกุลเงินรูปีของอินเดีย ซึ่งเป็นไปโดยราบรื่นเนื่องจากอินเดียเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของอิหร่าน และเป็นผู้ซื้อน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 2 ของอิหร่าน (รองจากจีน) รายได้จากการขายน้ำมันที่อิหร่านรับจากอินเดียเป็นเงินรูปี จะถูกนำไปใช้ในด้านต่างๆโดยที่อิหร่านไม่ต้องแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่น เช่น นำไปใช้ชำระค่าสินค้าที่อิหร่านนำเข้าจากอินเดีย อาทิ เครื่องจักรและสินค้าการเกษตร และเป็นสกุลเงินสื่อกลางที่อิหร่านใช้ในการทำธุรกรรมกับอินเดียที่เข้ามารับสัมปทานโครงการหลายด้านในอิหร่านไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โครงการถลุงสินแร่เหล็ก รวมทั้งโครงการตัดถนนและเส้นทางรถไฟหลายเส้นทางในอิหร่าน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560