สหรัฐฯ-ญี่ปุ่นซัมมิต ‘อาเบะ’จัดทัพลงทุนสนองนโยบายทรัมป์

06 ก.พ. 2560 | 07:00 น.
โดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีกำหนดพบปะหารืออย่างเป็นทางการที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ศกนี้ โดยเป็นการพบกันเป็นครั้งที่ 2 ของบุคคลทั้ง 2 แต่เป็นครั้งแรกหลังจากที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ ฝ่ายญี่ปุ่นนั้นมีหลากหลายประเด็นสำคัญที่จะนำไปหารือให้มั่นใจว่าญี่ปุ่นจะไม่เสียประโยชน์จากนโยบาย America First ของทรัมป์ แต่ยังไม่ทันไร บรรยากาศการพบปะก็ชักจะเริ่มขมุกขมัวเมื่อผู้นำสหรัฐฯ ออกมาชี้นิ้วระบุว่า จีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี เป็นตัวการปั่นค่าเงิน

วันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ กล่าวโทษ 2 มหาอำนาจทางเอเชีย คือ จีนและญี่ปุ่นว่าเป็นตัวการปั่นตลาดการเงิน โดยทำให้สกุลเงินหยวนและเยนมีค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นทำให้สหรัฐอเมริกาตกอยู่ในฐานะขาดดุลการค้าให้ทั้งสองประเทศมาโดยตลอด ขณะที่นายปีเตอร์ นาวาร์โร หัวหน้าสภาการค้าแห่งชาติของสหรัฐฯซึ่งเป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งขึ้นใหม่โดยประธานาธิบดีทรัมป์ก็กล่าวหาเยอรมนีว่าเป็นผู้ทำให้ค่าเงินยูโรต่ำลงมาเกินจริงเพื่อสร้างความได้เปรียบเช่นกัน

ในปี 2559 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าโดยรวม 7.456 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 26.6 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้ราวครึ่งหนึ่งเป็นมูลค่าการขาดดุลการค้าให้กับประเทศจีน ส่วนมูลค่าการขาดดุลการค้าให้กับญี่ปุ่นและเยอรมนีนั้นคิดเป็นสัดส่วนประเทศละ 10% ของมูลค่าการขาดดุลการค้ารวม การแสดงความเห็นของผู้นำสหรัฐฯที่ระบุเจาะจงว่า “ญี่ปุ่น” เป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งใจกดค่าเงินตัวเองให้ต่ำ ทำให้นายกรัฐมนตรีอาเบะถึงกับต้องรีบออกมาปฏิเสธข่าว และว่าจะต้องมีการสื่อสารกันให้ดีระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา โดยเขาย้ำว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมอบหมายให้ธนาคารกลาง (บีโอเจ) เป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเหมาะสม ว่าจะทำอย่างไรให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวที่ระดับ 2% ตามเป้าหมาย ไม่เกี่ยวกับการปั่นค่าเงินหรือกดค่าเงินเยนให้ต่ำแต่อย่างใด ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้เข้าแทรกแซงตลาดด้วยการเทขายเงินเยนเพื่อให้ค่าเงินอ่อนลงมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2011 หรือนับเป็นเวลา 6 ปีแล้ว

สำหรับประเด็นที่ญี่ปุ่นจะหยิบยกไปหารือกับทรัมป์นั้นก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่าญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่พร้อมจะลงทุนและช่วยสร้างการจ้างงานในสหรัฐฯ โดยในเนื้อหาของร่างเอกสารที่คาดหมายว่าผู้นำญี่ปุ่นจะนำไปใช้ในการหารือมีหัวข้อครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการลงทุนในภาคการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นในสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างงานหลายแสนตำแหน่ง ความร่วมมือในโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความสนใจของญี่ปุ่นที่จะลงทุนในสหรัฐฯผ่านการซื้อ infrastructure bonds หรือพันธบัตรเพื่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีข้อเสนอเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์มากน้อยเพียงใด แต่ก่อนหน้านี้ บริษัทโตโยต้าฯ ก็ได้ประกาศออกมาชัดเจนแล้วว่าจะลงทุนในสหรัฐฯ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯในระยะ 5 ปีข้างหน้า และล่าสุด บริษัทฮอนด้าฯ ก็ประกาศจับมือกับบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ของสหรัฐฯ ร่วมกันพัฒนาระบบพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ในปี 2020 และลงทุน 85 ล้านดอลลาร์ฯขยายสายการผลิตที่โรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ของจีเอ็มในรัฐมิชิแกน ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน 100 ตำแหน่ง

ไม่เพียงเท่านั้น รายงานข่าวจากสื่อญี่ปุ่นยังระบุด้วยว่า อาเบะจะใช้โอกาสเดียวกันนี้เจรจาซื้อเชลก๊าซ (ก๊าซธรรมชาติสกัดจากชั้นหินใต้ดิน) จากสหรัฐฯ เพื่อสนองนโยบาย Buy American. Hire American.ของผู้นำสหรัฐฯ และจะเสนอโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงในรัฐแคลิฟอร์เนียและเท็กซัสโดยใช้ระบบเทคโนโลยีของญี่ปุ่นอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ 2560