ย้ำผู้ถือกรีนการ์ดไม่กระทบ สหรัฐฯขอ 90 วันเคลียร์ปัญหา

02 ก.พ. 2560 | 09:00 น.
ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีผลที่ชัดเจนนักกับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออก แต่ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีคำสั่งไม่ออกวีซ่าให้พลเรือนจาก 7 ประเทศมุสลิม (ดังภาพประกอบ) เป็นเวลา 90 วันเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียปรับตัวลดลงเมื่อเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (30 ม.ค.) โดยเฉพาะดัชนีนิกเคอิร่วงลง 0.7% สู่ระดับ 19,322.78 จุด ซ้ำยังก่อให้เกิดกระแสการประท้วงทั้งในสหรัฐฯเองมากกว่า 40 แห่งและในหลายประเทศทั่วโลก

คำสั่งฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นคำสั่งตามอำนาจพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ฉบับนี้ลงนามโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันศุกร์ (27 ม.ค.) มีเป้าหมายเพื่อรักษาความมั่นคงและปกป้องสหรัฐฯ จากภัยก่อการร้าย โดยคำสั่งดังกล่าวห้ามพลเรือนจาก 7 ประเทศ (อิรัก อิหร่าน ซีเรีย ซูดาน โซมาเลีย ลิเบีย และเยเมน) เข้าสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 90 วัน นอกจากนี้ยังระงับแผนรับผู้อพยพลี้ภัยเข้าสหรัฐฯเป็นเวลา 120 วัน และห้ามชาวซีเรียเข้าสหรัฐฯแบบไร้กำหนด ปฏิกริยาที่เกิดขึ้นในทันทีหลังมีการประกาศคำสั่งดังกล่าวคือการชุมนุมประท้วงที่สนามบินหลายแห่งในสหรัฐฯ ขณะที่ภาคธุรกิจบางประเภทเช่น สายการบิน และบริษัทไฮเทค ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ยังคงรอประเมินสถานการณ์ว่าผลกระทบที่แท้จริงจะออกมาเป็นอย่างไร

จากความสับสนที่ว่าใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า สำหรับชาวต่างชาติที่ได้รับกรีนการ์ด หรือ บัตรเขียว ให้สามารถอยู่และทำงานในสหรัฐอเมริกาโดยถูกต้องตามกฎหมาย จะไม่กระทบและไม่ถูกห้ามกลับเข้าสหรัฐฯ แต่อาจจะถูกเจ้าหน้าที่กักตัวไว้ซักถามเป็นพิเศษหากเดินทางมาจาก 7 ประเทศดังกล่าวข้างต้น ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์เองออกมาชี้แจงยืนยันว่า คำสั่งครั้งนี้แม้จะเกี่ยวเนื่องกับ 7 ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่เป้าหมายของคำสั่งไม่เกี่ยวกับศาสนา เพราะวัตถุประสงค์ต้องการป้องกันการก่อการร้ายและรักษาความปลอดภัยให้กับประเทศสหรัฐฯเท่านั้น อีกทั้งการห้ามพลเรือนและผู้อพยพจากประเทศเหล่านี้เข้าสหรัฐฯก็เป็นกรณีชั่วคราว โดยระหว่างนี้ทางการสหรัฐฯจะพิจารณาปรับปรุงมาตรการต่างๆด้านความมั่นคง

“เราจะออกวีซ่าให้ทุกประเทศอีกครั้งเมื่อเรามั่นใจว่าได้ทบทวนและนำมาตรการความมั่นคงที่ปลอดภัยที่สุดมาใช้ภายใน 90 วันข้างหน้า” ผู้นำสหรัฐฯออกแถลงการณ์ตามมาหลังมีเสียงคัดค้าน และในวันเดียวกันนั้น กระทรวงความมั่นคง แห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ ออกหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า ผู้ที่ถือกรีนการ์ดให้อยู่และทำงานในสหรัฐฯโดยถูกกฎหมาย ได้รับการยกเว้นจากคำสั่งดังกล่าว

เพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าให้กับชาวต่างชาติที่ถูกกักตัวไว้โดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง สนามบินหลายแห่งในสหรัฐฯ เช่นสนามบินเคนเนดี้ในนิวยอร์ก และสนามบินลา การ์เดีย ในนิวเจอร์ซี ได้เสนอให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้โดยสารที่ถูกกักตัว ซึ่งนับตั้งแต่วันอาทิตย์ (29 ม.ค.) มีหลายคนเป็นผู้ถือกรีนการ์ดและได้รับความช่วยเหลือจนสามารถเข้าสหรัฐฯได้แล้ว (ตัวเลขทางการระบุ 392 คน) ขณะที่บางคนถูกส่งกลับประเทศต้นทางและบางคนไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่องบินมาสหรัฐฯตั้งแต่ต้นทาง

หลายประเทศ รวมทั้งเยอรมนีและอังกฤษ ออกมาคัดค้านการตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯในเรื่องนี้ MP20-3232-c ขณะที่แคนาดา เพื่อนบ้านของสหรัฐฯ ออกมาประกาศชัดเจนว่า ยินดีให้ความช่วยเหลือแก่ชาวต่างชาติที่ต้องติดค้างอยู่ที่สนามบินแคนาดาเพราะเข้าสหรัฐฯไม่ได้อันเป็นผลมาจากคำสั่งของผู้นำสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีในแคนาดากว่า 200 คนในนามกลุ่ม Tech Without Borders ยังร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึก ขอให้รัฐบาลแคนาดาออกวีซ่าทำงานชั่วคราวให้แก่บุคลากรด้านเทคโนโลยีที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แล้วต้องการโยกย้ายมาพำนักและทำงานในแคนาดาแทน “ถ้าคุณไม่สนใจจะรักษาบุคลากรที่มีพรสวรรค์ ฉลาดปราดเปรื่อง และมีความสามารถระดับเทพ ซ้ำยังปฏิเสธไม่ให้เขาเข้าประเทศ เราก็ยินดีมากๆที่จะต้อนรับบุคลากรเหล่านี้เข้าสู่แคนาดา” ตัวแทนกลุ่ม Tech Without Borders กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560