เสียงจากฟิลิปปินส์ เอกชนเป็นพระเอกบูรณาการอาเซียน

01 ก.พ. 2560 | 12:00 น.
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีอายุครบ 50 ปี และมีประเทศฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของนายดูเตอร์เต เป็นประธาน ทำให้วงการเมืองระหว่างประเทศเชื่อว่า อาเซียนในปี 2560 นี้จะเป็นปีที่มีสีสันมากที่สุดปีหนึ่ง

มูลนิธิเอเชียฟาวเดชั่นตีพิมพ์รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า 2 เรื่องที่น่าจับตา ในการประชุมของผู้นำอาเซียนในระดับต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ในปีนี้คือ การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคและความสัมพันธ์กับจีน

การให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจสอดคล้องกับภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่คาดว่าในปีนี้จะขยายตัวในอัตราสูงสุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหญ่ 5 ประเทศของอาเซียน โดยเอเชียฟาวเดชัน คาดว่าฝ่ายบริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนายดูเตอร์เตและคู่ค้า จะยังคงหนุนนโยบายมหภาคที่เป็นบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป

การเดินทางเยือนจีนและญี่ปุ่นของนายดูเตอร์เต เพื่อเร่งรัดให้ 2 มหาอำนาจของเอเชีย เพิ่มการลงทุนในฟิลิปปินส์สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของประธานาธิบดีดูเตอร์เต ที่ให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดย เอเชียฟาวเดชัน ชี้ว่าในขั้นต่อไป รัฐบาลของนายดูเตอร์เต จะเคลื่อนไปในทิศทางที่จะทำให้ผลประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจกระจายไปทั่วประเทศมากขึ้น

สอดคล้องกับบทความหนังสือพิมพ์ฟิลิปปินเดลี่เอ็นไควเรอร์ สื่อยักษ์ใหญ่ของเมืองตากาล็อกที่ตีพิมพ์ในวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา ชี้ในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้เอกชนเป็นผู้นำอาเซียน”

ฟิลิปปินเดลี่เอ็นไควเรอร์ชี้ว่า 10 ประเทศ อาเซียนมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) รวมกันมากกว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ มีประชากรรวม 630 ล้านคน เมื่อรวมกันจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนีและสหราชอาณาจักร โดยที่ผ่านมาปรากฏว่าการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภาคธุรกิจทำได้รวดเร็วกว่า การทำงานของรัฐบาลทั้ง 10 ประเทศ

บทความในฟิลิปปินเดลี่เอ็นไควเรอร์ยกตัวอย่างภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปว่าสามารถขยายตัวข้ามแดนได้รวดเร็ว อาทิเช่น บริษัทซีพีและเบทาโกรของไทยที่ขยายธุรกิจเข้ามาเลเซีย เมียนมา อินโดนีเซีย กัมพูชาและลาว บริษัท เหลียงฮับ (Leong Hup) และ คิวแอล รีสอร์สเซส (QL Resources) ของมาเลเซียที่ขยายธุรกิจเข้าอินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ บริษัทลีไวไวฯ (แบรนด์โออีชิ) และจอลลี่บี ของฟิลิปปินส์ที่ขยายเข้าหลายประเทศในอาเซียน

แม้ในสินค้าสำคัญของภูมิภาคคือข้าว เริ่มมีการบูรณาการสร้างห่วงโซ่มูลค่าของธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนแล้ว โดยมีรายงานว่ามีการลงทุนสร้างโรงสีข้าวและข้าวแปรรูปข้ามพรมแดนกันแล้ว และคาดว่าในอนาคตจะมีการสร้างห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมข้าวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า ภาคเอกชนสามารถทำงานให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่ออาเซียนได้ ดีกว่ารัฐบาล

 ความสัมพันธ์กับจีน

เรื่องที่ 2 คือความสัมพันธ์กับจีน เป็นประเด็นที่ท้าทายอาเซียนมากในยามที่ นายดูเตอร์เต เป็นประธานาธิบดี เนื่องจากจีนมีความขัดแย้งกับหลายประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องเขตแดนในทะเลจีนใต้ โดยก่อนหน้านี้ฟิลิปปินส์เป็นคู่ขัดแย้งกับจีนที่สำคัญประเทศหนึ่ง แต่เมื่อนายดูเตอร์เต มีนโยบายถอยห่างจากสหรัฐอเมริกาและหันไปญาติดีกับจีน ทำให้เกิดความสับสนในจุดยืนของฟิลิปปินส์ ซึ่งจะต้องเป็นผู้นำอาเซียนในปีนี้

อย่างไรก็ดีรายงานของเอเชียฟาวเดชัน ชี้ว่าจุดยืนใหม่ของฟิลิปปินส์ที่หันไปญาติดีกับจีน ทำให้ความขัดแย้งเรื่องทะเลจีนใต้และทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกลดลง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้กับการประชุมผู้นำอาเซียนในฟิลิปปินส์ลงได้ระดับหนึ่งเพราะฟิลิปปินส์คงไม่ใช้การประชุมอาเซียนเป็นเวทีแสดงความขัดแย้ง

ฝ่ายประเทศจีนเองได้เร่ง สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับฟิลิปปินส์ โดยในการประชุมร่วมระหว่างนาย เกา หู่เฉิง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จีนและคณะรัฐมนตรีของฟิลิปปินส์นำโดยนายคาร์ลอส โดมินเกซ รัฐมนตรีการคลังของฟิลิปปินส์เมื่อเร็ว ๆ นี้จีนประกาศจะร่วมทำงานกับฟิลิปปินส์เร่งด่วน 30 โครงการมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 133,200 ล้านบาท) ซึ่งจะมีทั้งโครงการสร้างระบบชลประทาน เขื่อนไฟฟ้าและรถไฟ

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า คล้อยหลังที่จีนประกาศให้ความช่วยเหลือฟิลิปปินส์ได้ไม่นาน นายเดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ได้ประกาศในที่ประชุมความมั่นคงภูมิภาคที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ขอประกาศว่า “ประเทศนอกอาเซียนไม่ควรจะใช้อาเซียนเป็นเวทีตัวแทนในการแสดงความขัดแย้ง เพราะฟิลิปปินส์ต้องการสร้างเอกภาพและสร้างกลไกแก้ปัญหาทะเลจีนใต้เอง”

คำประกาศของนายลอเรนซานา ชี้ชัดว่าฟิลิปปินส์ในฐานะ ประธานอาเซียน ไม่ประสงค์ให้ประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งสหรัฐอมริกา จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และอินเดีย นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมในการประชุมร่วมกับอาเซียน

เมื่อการเมืองลดโทนเสียงลง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คงจะเป็นพระเอกในการประชุมอาเซียนในปีไก่อย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231
วันที่ 29 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2560