หมดยุคนโยบายดอลลาร์แข็ง นับ1 รัฐบาลทรัมป์

23 ม.ค. 2560 | 13:00 น.
สหรัฐอเมริกามีนโยบายรักษาอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐฯให้อยู่ในสถานะแข็งแกร่งมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษนับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน หลังจากที่โดนัลด์ทรัมป์ ชนะศึกการเลือกตั้งมาหมาดๆในเดือนพฤศจิกายน 2559 นักวิเคราะห์ก็ยังคาดหมายกันว่าการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของเขาจะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าต่อไปจากการที่ทรัมป์มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดงบลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลาง (เฟด) จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยแบบถี่ขึ้นเพื่อรองรับนโยบายการคลังของรัฐบาล และนั่นก็จะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นอย่างน้อยภายในระยะ 12 เดือนที่เขาเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณของทรัมป์ในช่วงสัปดาห์ที่แล้วผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อใหญ่อย่างเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลว่า “ตอนนี้ค่าเงินดอลลาร์แข็งเกินไปแล้ว” อาจจะบ่งบอกว่า ยุคของนโยบายดอลลาร์แข็งที่มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดก่อนๆกำลังจะสิ้นสุดลง

หากจะดูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ผ่านการลงทุนด้านต่างๆ รวมทั้งชักจูงให้มีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ก็จะเห็นได้ว่านโยบายเหล่านี้ไม่ได้ต้องการให้ดอลลาร์แข็งค่ามากนัก เพราะหากดอลลาร์แข็งเกินไป สินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกของสหรัฐฯ ก็จะแข่งขันราคาได้ยากในตลาดโลก

เดวิด วู หัวหน้าฝ่ายวิจัยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราโลกจากธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริลลินช์ เผยทัศนะเสริมน้ำหนักให้กับการส่งสัญญาณของทรัมป์ในครั้งนี้ “ไม่ต้องสงสัยเลยว่ารัฐบาลทรัมป์ไม่ได้อยากให้ดอลลาร์แข็งค่า เพราะค่าเงินที่ขยับสูงขึ้นไม่เป็นผลดีสำหรับสิ่งต่างๆที่เขากำลังพยายามทำอยู่” โดยเฉพาะการสร้างความแข็งแกร่งอีกครั้งให้กับฐานการผลิตในสหรัฐอเมริกาตามนโยบาย Make America Great Again เพราะดอลลาร์ที่แข็งแกร่งจะทำให้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯมีราคาแพงเมื่อเทียบกับสินค้าคู่แข่ง แต่ก็เชื่อว่าทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ท่ามกลางพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่แข็งแรงขึ้นในช่วงเวลานี้จะขยับสูงขึ้นเช่นเดียวกับทิศทางดัชนีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ และจะเป็นการแข็งค่าขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

นับตั้งแต่ที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ดัชนีดอลลาร์ขยับสูงขึ้นราว 6 % แต่เริ่มปรับลดลงเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม และปัจจุบันก็อยู่ที่ระดับสูงขึ้นประมาณ 3% นับจากวันที่ 8 พฤศจิกายน2559 เป็นต้นมา (วันลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ดัชนีดังกล่าวปรับลดลงราว 0.7% หลังจากที่ทรัมป์ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่าค่าเงินดอลลาร์แข็งเกินไป แต่ก็มีแรงกดดันจากปัจจัยอื่นประกอบด้วยคือการแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์และยูโรหลังจากที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษออกมาแถลงสร้างความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการถอนอังกฤษออกจากภาคีสหภาพยุโรป (อียู)

ทรัมป์ไม่เพียงแสดงความเห็นว่าค่าเงินดอลลาร์แข็งมากเกินไปแล้วในเวลานี้ แต่ยังชี้นิ้วกล่าวโทษไปที่จีนว่าเป็นตัวการโดยระบุว่าบริษัทอเมริกันไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทจีนได้เพราะค่าเงินดอลลาร์แข็งเกินไปและทำให้ผู้ผลิตของสหรัฐฯกำลังจะตาย ขณะที่ค่าเงินหยวนของจีนตกดิ่งลงเหมือนโยนหิน เขากล่าวว่าการที่รัฐบาลจีนเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นในช่วงหลังๆ นี้ เป็นเพราะไม่อยากมีเรื่องกับสหรัฐฯ ด้านนายสตีเวน มนูชิน ว่าที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ คนใหม่ ก็เคยแสดงท่าทีไม่สนับสนุนนโยบายดอลลาร์แข็งไว้เช่นกันในการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีเมื่อไม่นานมานี้ โดยเลี่ยงไปใช้คำว่า“เศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง” แทนคำว่า “ค่าเงินที่แข็งแกร่ง” เมื่อกล่าวถึงเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆของสหรัฐฯ

ไม่ว่าสิ่งที่ทรัมป์เคยกล่าวไว้จะเป็นอย่างไร นับจากนี้ทั่วโลกกำลังจับตาว่าหลังจากที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ (20 ม.ค.) นโยบายและมาตรการต่างๆที่เขานำมาใช้จริงๆ จะเป็นอย่างที่เคยพูดไว้ก่อนรับตำแหน่งหรือเปล่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560