ผู้นำการเงินหนุนการค้าเสรี พร้อมเรียกร้องให้เกิดการกระจายประโยชน์อย่างทั่วถึง

10 ต.ค. 2559 | 12:00 น.
ผู้นำด้านการเงินของโลกประสานเสียงสนับสนุนนโยบายการเปิดการค้าเสรี พร้อมเรียกร้องให้มีมาตรการสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง ก่อนการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกจะเริ่มต้นขึ้น

นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ กล่าวก่อนการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่มีกำหนดจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม 2559 ว่า "โลกาภิวัตน์ได้ผลมาเป็นเวลาหลายปี โดยได้สร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับผู้คนจำนวนมาก เราไม่คิดว่าเวลานี้เป็นเวลาที่ควรจะต่อต้านมัน"

นางลาการ์ดยังกล่าวอีกว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การเติบโตที่มีปัจจัยขับเคลื่อนจากการค้าระหว่างประเทศได้ช่วยให้ประเทศต่างๆ อาทิ จีน และอินเดีย ก้าวพ้นจากภาวะความยากจน "การค้าเป็นเครื่องยนต์ที่ยอดเยี่ยมในการสร้างการเติบโต เราจำเป็นต้องมีเครื่องยนต์นี้เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นการเติบโต"

ด้านนายจิม ยง คิม ประธานเวิลด์แบงก์ แสดงความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากผลกระทบของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับการค้าโลกที่อยู่ในภาวะชะงักงัน โดยนายคิมกล่าวว่า การค้าและการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเป็นหัวใจสำคัญ 2 ประการที่ช่วยให้จีนสามารถยกระดับฐานะของประชากร 7 ล้านคนออกมาจากความยากจนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศเปิดกว้างทางการค้าและเศรษฐกิจเพื่อยุติปัญหาความยากจนอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ ทั้งนางลาการ์ดและนายคิมได้เรียกร้องให้เพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนกับมนุษย์ "ความเลื่อมล้ำอยู่ในระดับที่สูงเกินไป ซึ่งจำกัดการเติบโตและจุดชนวนให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพ" นายคิมกล่าว และเสริมว่าแทนที่จะเพิ่มกำแพงการค้า จะเป็นการดีกว่าถ้ามีการลงทุนกับมนุษย์ ช่วยเพิ่มทักษะให้ผู้คนสามารถหางานทำได้ในสภาวะเศรษฐกิจที่มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศยากจนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนในรูปแบบนี้
ขณะที่นางลาการ์ดกล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายควรใช้นโยบายในทุกๆ ด้านให้ผสมผสานอย่างสมดุลเพื่อฟื้นความต้องการและเพิ่มผลิตภาพ อีกทั้งควรทำให้แน่ใจกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ ซึ่งนำมาสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตขึ้นอย่างมาก สามารถกระจายได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

ความเห็นของนางลาการ์ดและนายคิมสอดคล้องกับผู้นำด้านการเงินของโลกที่มารวมตัวในการประชุมครั้งนี้ ท่ามกลางกระแสการต่อต้านการค้าเสรีที่มีเพิ่มมากขึ้น หลังจากความกังวลต่อการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจทำให้ชาวอังกฤษตัดสินใจลงมติออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หยิบยกการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าขึ้นมาเป็นประเด็นในการหาเสียงเลือกตั้ง

นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กล่าวว่า "เราไม่ควรขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น และผู้คนหลายร้อยล้านคนหลุดพ้นจากภาวะความยากจนและโอกาสที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาก แต่ยังมีความท้าทายในเรื่องของการกระจายผลประโยชน์ เราจะทำงานร่วมกับผู้คนอย่างไรเพื่อแบ่งปันประโยชน์เหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"

ด้านนายหยี่ คัง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวว่า "ผมเชื่อมั่นในการค้าเสรี ผมคิดว่าการค้าเสรีจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน แต่เราจะต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างทั่วถึงอย่างจริงจัง ผมคิดว่าปัญหาและความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เป็นของจริง เราได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ จากการค้าเสรีอย่างมาก แต่เราต้องมองเห็นปัญหาว่าการเติบโตไม่เสมอภาค การกระจายรายได้ไม่เท่าเทียม"

ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดในสัปดาห์นี้ โดยไอเอ็มเอฟยังคงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ไว้ที่ 3.1% ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม พร้อมกับปรับคาดการณ์การเติบโตในปีหน้าขึ้นเป็น 3.4% จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ อาทิ รัสเซียและบราซิล

เวลานี้ไอเอ็มเอฟคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต 1.6% ในปี 2559 ลดลงจากปีก่อนที่เติบโต 2.1% ขณะที่เศรษฐกิจอังกฤษคาดว่าจะเติบโตได้ 1.8% ในปี 2559 และ 1.1% ในปี 2560 ลดลงจาก 2.2% เมื่อปีก่อน โดยความไม่แน่นอนภายหลังการทำประชามติของอังกฤษจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559