การประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2 งานที่คนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพสัปดาห์นี้

10 ต.ค. 2559 | 14:00 น.
ประเทศไทยจะได้มีโอกาสต้อนรับประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศจาก 33 ประเทศทั่วทวีปเอเชียซึ่งจะเดินทางมาเข้าร่วม การประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม 2559 หลายคนคงไม่ทราบว่ากรอบความร่วมมือเอเชียนี้ริเริ่มโดยประเทศไทยตั้งแต่ปี 2545 จนถึงขณะนี้ มีพัฒนาการในหลายๆ ด้าน และได้ยกระดับเป็นเวทีที่ผู้นำของประเทศเอเชียได้มาพบและแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และประสบการณ์ นำไปสู่กิจกรรมที่มุ่งให้เอเชียเติบโตอย่างยั่งยืนและมีความเชื่อมโยงกัน

การประชุมสุดยอด ACD จัดขึ้นทุก 3 ปี ในครั้งนี้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ คูเวตเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด ACD ครั้งแรกในปี 2555 ช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ประเทศสมาชิก ACD ไม่ได้พบกัน มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะมาสนทนากันในสภาวะที่เอเชียกำลังเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก โดยประเทศไทยมีความภูมิใจในการจัดประชุมสุดยอด ACD ครั้งนี้ในปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ซึ่งพระองค์ท่านทรงเป็นพระบิดาของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งที่การประชุมครั้งนี้ให้ความสำคัญ

ประเทศที่จะมาร่วมการประชุมสุดยอด ACD ครอบคลุมประเทศเอเชียเกือบทั้งหมดจากตะวันตกสู่ตะวันออก และจากเหนือจรดใต้ของทวีป แม้เอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีความแตกต่างทั้งในระดับการพัฒนา ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและภาษา เอเชียก็ยังสามารถใช้จุดต่างสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กันและกันได้มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่ง การขยายการค้าการลงทุน การไปมาหาสู่ของประชาชนระหว่างกัน และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งหวังจะให้ทุกภาคส่วนรวมถึงเอกชนและภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเพื่อเป้าหมาย คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของหัวข้อหลัก “เอเชียหนึ่งเดียว หลากหลายในพลัง” (One Asia, Diverse Strengths) ของการประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ 2 นี้

ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมานานแล้ว จากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการตามแนวพระราชดำริจำนวนหลายพันโครงการที่มีอยู่ทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การพบปะพูดคุยของผู้นำรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ 2 จะเน้นเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นหัวข้อการหารือในสหประชาชาติ สนับสนุนการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน และนำไปสู่การสร้างประชาคมเอเชียในอนาคตให้เป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีการพัฒนาทุนมนุษย์ และมีความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ โดยให้ความร่วมมือใน 6 เสาหลักที่เน้นความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้แก่ เรื่องความเชื่อมโยง ซึ่งไทยได้ผลักดันให้ ACD ส่งเสริมการเชื่อมโยงในเอเชียทั้งในด้านเส้นทางคมนาคมขนส่ง พลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยคำนึงว่าอนุภูมิภาคในเอเชียมีเส้นทางคมนาคมของตัวเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่ ACD จะมาต่อภาพการเชื่อมโยงระหว่างกันในทุกๆ มิติให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้การค้าขาย ไปมาหาสู่ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม หลายประเทศในเอเชียมีความโดดเด่นในการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีนวัตกรรมที่ไม่แพ้ใคร มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และอีกหลายๆ ประเทศในเอเชียก็มีศักยภาพที่จะเสริมกันและกันได้ดียิ่งขึ้น

การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้ความสำคัญมากกับคนเพื่อไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ และอุตสาหกรรม 4.0 การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและการยกระดับมาตรฐานของวิชาชีพหลักๆ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตรงกับเป้าหมายของเอเชียมากขึ้น
ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ พลังงานสะอาด การใช้พลังงานทดแทน การประหยัดพลังงาน เป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มคุณภาพชีวิตและรักษาสภาพแวดล้อมของทวีปเอเชีย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ไทยเป็น Prime Mover ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเอเชีย การที่เอเชียมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็น win – win situation ทุกประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

การส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030

แต่ละเรื่องมีที่จะมีการหารือกันในการประชุมสุดยอด ACD ที่ประเทศไทยในครั้งนี้ล้วนมีความเกี่ยวโยงกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในทวีปเอเชีย การประชุมจะให้ความสำคัญและขยายบทบาทของภาคเอกชนใน ACD ในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทำให้การเชื่อมโยงระบบการเงินและแหล่งเงินทุนในทวีปเอเชีย นำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่นักลงทุนและนักธุรกิจของเอเชีย การประชุม ACD Connect Business Forum ซึ่งจะจัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ 2 นี้จึงเป็นมิติใหม่ที่เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเชื่อมโยงทางธุรกิจของเอเชียต่อไปในอนาคต

ผู้นำประเทศเอเชียจะมาพบกันในการประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ 2 ในสภาวะที่โลกมีความวุ่นวายในหลายด้าน อาทิ ภัยก่อการร้าย ปัญหาผู้อพยพหนีภัยข้ามประเทศ เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี โลกกำลังหมุนเข้าสู่การผลิตในยุคใหม่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเอเชียยังก้าวตามไม่ทัน ระบบการเงินโลกมีความซับซ้อน เอเชียจะต้องได้รับผลกระทบแน่นอน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียถือว่าสูงสุดในโลก

น้อยประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย แต่เศรษฐกิจไทยยังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง การประชุมสุดยอด ACD ในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มพลวัตและความร่วมมือในทวีปเอเชียให้มีความชัดเจนมากขึ้นต่อการค้าขาย การลงทุน ท่องเที่ยว เส้นทางคมนาคม การพัฒนาที่ยั่งยืน ยกระดับการศึกษา คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน ยิ่งประเทศในเอเชียหันหน้ามาร่วมมือกันมากขึ้น ยิ่งจะสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ประชาชนในเอเชีย และย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยในอนาคต

กระทรวงการต่างประเทศจึงขอเชิญคนไทยมาร่วมกันให้การต้อนรับผู้ประเทศต่างๆ ในเอเชียที่จะมาเข้าร่วมการประชุม ACD Summit ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม ศกนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559