กูเกิลเร่งเครื่องฮาร์ดแวร์ ชู ‘กูเกิล แอสซิสแทนต์’

12 ต.ค. 2559 | 01:00 น.
กูเกิล เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านซอฟต์แวร์มาเป็นเวลานาน แต่เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กูเกิลขอช่วงชิงสปอตไลต์ในฐานะบริษัทด้านฮาร์ดแวร์บ้าง ด้วยการนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งรวมถึงสมาร์ทโฟน "พิกเซล" และลำโพงอัจฉริยะ "โฮม" ออกมาเปิดตัว

ยุทธศาสตร์ใหม่ของกูเกิลที่ต้องการควบคุมทั้งระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้กูเกิลเข้ามาแข่งขันโดยตรงกับบริษัทอย่าง แอปเปิล อเมซอน หรือแม้แต่หุ้นส่วนผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล อย่างไรก็ดี สิ่งที่กูเกิลเล็งเห็นว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากสำหรับฮาร์ดแวร์ของตนเอง คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งสามารถเข้าใจคำสั่งจากมนุษย์และตอบสนองต่อคำสั่งนั้นได้

กูเกิลนำระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ชื่อว่า กูเกิล แอสซิสแทนต์ (Google Assistant) มาสาธิตพร้อมกับการเปิดตัวอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ใหม่หลายประเภทเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ โดยได้ทดลองตั้งคำถามและสั่งการต่างๆ ผ่านกูเกิล แอสซิสแทนต์ เช่น สั่งให้ค้นหาเพลง จองที่นั่งในร้านอาหาร หรือหาข้อมูลว่าระยะทางการขับรถจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งใช้เวลาเท่าใด "เป้าหมายคือการสร้างกูเกิลส่วนตัวให้กับทุกๆ คน" ซุนดาร์ พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกูเกิล กล่าว

สมาร์ทโฟนพิกเซล (Pixel) ที่กูเกิลนำมาเปิดตัวพร้อมๆ กัน จะเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่มาพร้อมกับกูเกิล แอสซิสแทนต์ ขณะที่ลำโพงอัจฉริยะ กูเกิล โฮม (Google Home) จะเป็นผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งชิ้นที่ใช้ประโยชน์จากกูเกิล แอสซิสแทนต์เป็นหลัก

สำหรับกูเกิล โฮม ซึ่งเป็นลำโพงที่สามารถรับฟังคำสั่งในการเล่นเพลง หรือควบคุมอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ถูกมองว่าเป็นการตอบโต้กับอุปกรณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกันของอเมซอน คือ อเมซอน เอ็กโค่ (Amazon Echo) ที่พึ่งพาซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่อเมซอนพัฒนาขึ้นมา ชื่อ อเล็กซ่า (Alexa) โดยอเมซอนนำเอ็กโค่ออกวางตลาดมา 2 ปีแล้วและได้รับความนิยมเหนือความคาดหมาย

คู่แข่งของกูเกิลหลายรายต่างพยายามผสมผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้าไปในฮาร์ดแวร์ของตนเอง อย่างอเมซอนเวลานี้ได้นำอเล็กซาเข้าไปติดตั้งในแท็บเลตและเซตท็อปบ็อกซ์สำหรับโทรทัศน์ ขณะที่แอปเปิลก็พยายามมองหาช่องทางนำซอฟต์แวร์สิริ (Siri) ที่อยู่ในไอโฟนและไอแพดเข้าไปติดตั้งกับอุปกรณ์ภายในบ้างในลักษณะเดียวกับเอ็กโค่ของอเมซอน

"ถ้าคุณต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง คุณต้องดีไซน์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ควบคู่กันไป" ริค ออสเตอร์โลห์ รองประธานอาวุโสฝ่ายฮาร์ดแวร์ของกูเกิล กล่าว

ตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา กูเกิลทำงานร่วมกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อื่นๆ เช่น ซัมซุง และแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ ในการผลิตสมาร์ทโฟนรุ่นเน็กซัส แม้ว่าเน็กซัสจะเป็นสมาร์ทโฟนที่ต้องการชูความโดดเด่นของซอฟต์แวร์แอนดรอยด์ของกูเกิล แต่การออกแบบตัวเครื่องและกระบวนการผลิตยังคงเป็นหน้าที่ของบริษัทหุ้นส่วนด้านฮาร์ดแวร์เหล่านั้น ซึ่งออสเตอร์โลห์กล่าวว่า สำหรับพิกเซล "เราต้องการสร้างสิ่งต่างๆ อย่างที่กูเกิลตั้งใจ"

อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ไม่ใช่เรื่องง่าย จากนี้ไปกูเกิลจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านฮาร์ดแวร์ เช่น การบริหารจัดการสต๊อกสินค้า การให้บริการหลังการขายกับลูกค้า และการจัดซื้อชิ้นส่วนสำหรับการผลิต เป็นต้น "กูเกิลไม่ได้มีประสบการณ์ที่แข็งแกร่งในการขายอุปกรณ์ใดๆ โดยตรงสู่ผู้บริโภคในประมาณมาก" จูลี แอสก์ นักวิเคราะห์จากฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช ให้ความเห็น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,199 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559