พาณิชย์ผู้ดีหนุน‘ฮาร์ดเบร็กซิท’ มองโอกาสทองในการเจรจาการค้ากับประเทศตลาดเกิดใหม่

04 ต.ค. 2559 | 07:00 น.
รัฐมนตรีพาณิชย์อังกฤษเชื่อการออกจากอียูจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอังกฤษในการทำการค้ากับต่างประเทศ ส่งสัญญาณว่าการออกจากอียูอาจเกิดขึ้นในแบบ "ฮาร์ดเบร็กซิท" ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์เตือนการออกจากตลาดเดียวของยุโรปอาจสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรม

นายเลียม ฟ็อกซ์ รัฐมนตรีการค้าต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวว่า การออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท เป็นโอกาสทองสำหรับอังกฤษที่จะวางบทบาทใหม่ในการทำการค้ากับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ "อังกฤษมีโอกาสทองที่จะสร้างบทบาทใหม่ของตนเองในโลก บทบาทที่ให้ความสำคัญกับชาวอังกฤษเป็นลำดับแรก" ฟ็อกซ์กล่าว

ทั้งนี้ อังกฤษกำลังอยู่ในระหว่างการถกเถียงกันว่าควรจะออกจากการเป็นสมาชิกอียูในรูปแบบที่เรียกว่า "ซอฟต์เบร็กซิท" ซึ่งจะคงช่องทางการเข้าถึงตลาดเดียวของยุโรปเอาไว้ให้ได้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันจะต้องยอมรับการเคลื่อนย้ายผู้คนอย่างอิสระ หรือการออกแบบ "ฮาร์ดเบร็กซิท" ซึ่งจะตัดขาดจากตลาดเดียวของยุโรปทั้งหมด และทำการค้ากับต่างประเทศภายใต้กฎและภาษีขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) แต่จะสามารถควบคุมการเข้าประเทศของคนต่างด้าวได้

ฟ็อกซ์กล่าวว่า อังกฤษล้าหลังในการแข่งขันด้านการค้ากับทั่วโลก เพราะมีบริษัทอังกฤษจำนวนไม่มากพอที่ทำการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยอังกฤษจะเดินหน้าสนับสนุนการค้าแบบเปิดเสรี และเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับทั้งฝ่ายอียูและอังกฤษถ้าบรรยากาศการค้าหลังจากนี้จะมีความเสรีเท่ากับในปัจจุบัน

"การกีดกันทางการค้าไม่เคยเป็นประโยชน์กับใคร และในเวลาที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคหลังเบร็กซิท เราต้องการให้การค้ามีความเสรีและเปิดกว้างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" ฟ็อกซ์กล่าว และเสริมว่า "ในฐานะสมาชิกอิสระหน้าใหม่ของดับเบิลยูทีโอที่อยู่นอกอียู เราจะต่อสู้ให้มีการเปิดเสรีการค้าต่อไป ตลอดจนช่วยเหลือตลาดกำลังพัฒนาให้ทำการค้าเพื่อยกระดับจากความยากจน โดยให้สิทธิพิเศษพวกเขาในการเข้าถึงตลาดของเรา"

บลูมเบิร์กทำการวิเคราะห์ท่าทีของประเทศในยุโรปและพบว่าโอกาสที่การออกจากอียูของอังกฤษจะเป็นแบบฮาร์ดเบร็กซิทมีเพิ่มมากขึ้น โดยเกือบทุกประเทศเน้นย้ำว่าอังกฤษจะต้องยอมรับการเคลื่อนย้ายคนอย่างอิสระถ้าต้องการได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดเดียวของยุโรป แม้ว่านางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เชื่อมั่นว่าจะสามารถเจรจาตกลงกับผู้นำของประเทศสมาชิกอียูให้ทำข้อตกลงพิเศษกับอังกฤษได้

ด้านผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ของอังกฤษออกโรงเตือนว่า อุตสาหกรรมรถยนต์อังกฤษจะได้รับความเสียหายถ้าไม่สามารถเข้าถึงตลาดเดียวของยุโรป "การเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเดียวเป็นพื้นฐานที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับเราในปัจจุบัน ความกังวลที่สำคัญที่สุดของเราคือความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมของเรา" มาร์ค ฮอว์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์ของอังกฤษ (SMMT) กล่าว

อุตสาหกรรมรถยนต์ของอังกฤษมีโมเมนตัมที่สดใสในช่วงที่ผ่านมา การผลิตในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เติบโตขึ้นกว่า 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน การอ่อนค่าของเงินปอนด์ช่วยหนุนการส่งออก ขณะที่การลงทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง ซึ่งรวมถึงการลงทุนเป็นมูลค่ากว่า 3 พันล้านปอนด์เมื่อปี 2558 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของอนาคตอังกฤษกับอียูมีโอกาสสร้างความเสียหายต่อการเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา

นายคาร์ลอส กอส์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท นิสสัน มอเตอร์ เจ้าของโรงงานรถยนต์ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในอังกฤษ กล่าวเตือนว่า นิสสันจะไม่ตัดสินใจแผนการลงทุนที่สำคัญในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจน พร้อมกับระบุว่าถ้ามีการตั้งกำแพงภาษีรถยนต์ รัฐบาลอังกฤษจะต้องให้คำมั่นว่าจะมีการชดเชยผู้ผลิตที่ส่งออกรถยนต์ไปตลาดยุโรป

"เราต้องการอยู่ เรามีความสุข เรามีโรงงานที่ดีซึ่งทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เราไม่สามารถอยู่ได้ถ้าเงื่อนไขไม่สมเหตุสมผลที่เราจะอยู่" นายกอส์นกล่าว และเสริมว่า โรงงานในอังกฤษของนิสสันจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ถ้าเบร็กซิทหมายความว่าอังกฤษจะต้องจ่ายภาษี 10% ในการนำเข้ารถยนต์ไปยังยุโรป

ทั้งนี้ การเข้าถึงตลาดยุโรปอย่างเสรีช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์อังกฤษมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป โดยอังกฤษส่งออกรถยนต์ 80% ของที่ผลิตได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่ไปยังยุโรปแผ่นดินใหญ่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559