ลอรีอัลชูธงรบแบรนด์ความงามนวัตกรรมเลิศ

01 ต.ค. 2559 | 13:00 น.
เมื่อตั้งเป้าสร้างความโดดเด่นในสนามแข่งขันด้วยนวัตกรรมความงาม “ลอรีอัล” ยักษ์ใหญ่ในแวดวงผลิตภัณฑ์ความงามจากฝรั่งเศส จึงทุ่มเทกับงานด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เช่นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงามในระดับนาโนและระดับโมเลกุล เพื่อการกระตุ้นและบำรุงผิวอย่างมีประสิทธิภาพล้ำลึก

[caption id="attachment_101811" align="aligncenter" width="500"] การพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงามในระดับนาโนและระดับโมเลกุล การพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงามในระดับนาโนและระดับโมเลกุล[/caption]

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทยังได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัท ออร์กาโนโวฯ (Organovo) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเครื่องพิมพ์ชีวภาพ ในการผลิตเครื่อง 3D Bioprinting หรือเครื่องพิมพ์ชีวภาพสามมิติ เพื่อพิมพ์เนื้อเยื่อมนุษย์ด้วยการนำวัสดุหรือเซลล์ที่มีชีวิตมาเรียงซ้อนกันและสร้างเป็นรูป 3มิติ ซึ่งการพิมพ์ผิวหนังดังกล่าว ทำขึ้นเพื่อใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์แทนการทดสอบกับคนหรือสัตว์อย่างที่เคยเป็นมา อีกทั้งเพื่อทดแทนวิธีการผลิตผิวหนังสำหรับการทดสอบแบบเดิม ที่ต้องผลิตจากการรับบริจาคผิวหนังของผู้เข้ารับการศัลยกรรมพลาสติกมาปลูกบนเนื้อเยื่อ วิธีการดังกล่าวใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์ซึ่งช้าและไม่เพียงพอต่อความต้องการในการทดสอบ จึงไม่น่าแปลกใจแม้แต่น้อยที่ 3D Printing จะได้รับการกล่าวขานว่าเป็นนวัตกรรมที่สร้างความสั่นสะเทือนให้แก่โลกการผลิตในปัจจุบัน

ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ลอรีอัล ซึ่งถูกจัดอันดับเป็นบริษัทความงามอันดับหนึ่งของโลก ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จของเทคโนโลยีความงามที่สามารถทำยอดขายได้สูงถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการได้มาครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 8 ปี จากผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางมากกว่า 300 ชนิด และที่ล้ำไปกว่านั้นล่าสุดในงาน Consumer Electronics Show หรือ CES 2016 บริษัทยังได้เปิดตัวสติกเกอร์อัจฉริยะ My UV Patch ที่สามารถวัดแสงยูวี บริษัทนำนวัตกรรมนี้มาใช้กับผลิตภัณฑ์แบรนด์ลา โรช-โพเซย์ (La Roche-Posay) โดยสติกเกอร์อัจฉริยะดังกล่าวเป็นสติกเกอร์ที่ใช้ติดผิวหนังฝังเซ็นเซอร์ตรวจจับระดับรังสียูวีไว้ภายใน ทำให้ผู้ติดสติกเกอร์สามารถรู้ตัวได้ก่อนที่ผิวจะถูกแสงแดดทำร้ายมากเกินไปจนเป็นปัญหา My UV Patch จะทำงานโดยวิธีการซิงก์ เพื่อแจ้งเตือนและบอกข้อมูลต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ด้วยการแตะผ่านชิป NFC (Near Field Communications) ที่ฝังอยู่ภายในสติกเกอร์ หรือจะใช้วิธีถ่ายรูป เพื่อดูสถานะของการรับแสง UV บนผิวเราแบบเรียลไทม์ผ่านสีที่เปลี่ยนไปของสติกเกอร์ก็ได้เช่นกัน

นอกจากนวัตกรรมข้างต้นแล้ว ที่น่าสนใจก็คือ ตั้งแต่ปี 2557 บริษัทลอรีอัลฯ ลดการใช้เม็ดพลาสติกไมโครบีดส์ ขนาดเล็กจิ๋วๆ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องสำอางประเภทที่ใช้ร่วมกับน้ำ เช่น โฟมล้างหน้า ที่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจรู้สึกถึงความสะอาดล้ำลึกและสบายผิว เพราะมันช่วยขัดเซลล์ผิวเสื่อมสภาพและทำความสะอาดได้ลึกถึงรูขุมขน

ลอรีอัลยังเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่นำแอพพลิเคชั่นบนคีย์บอร์ดมาใช้เพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในโลกแห่งสื่อใหม่อย่างโทรศัพท์มือถือได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะสำหรับสาวๆ ที่รักสวยรักงามและการแชต ทีมงานจึงสร้างแอพพลิเคชันคีย์บอร์ด ชื่อว่า โบโมจิ (beaumoji) เพื่อช่วยให้สาวๆ ทุกชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นสาวผิวสี ผิวขาว หรือสาวเอเชีย สามารถพูดคุยเรื่องสวยๆงามๆ กับเพื่อนได้อย่างมีสีสัน ผ่านรูปอีโมจิสุดน่ารักเหล่านี้ อาทิ การทำผม แต่งหน้า ทาปาก โดยมีภาพเกี่ยวกับความงามให้เลือกส่งหากันถึง 130 ภาพ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2563 ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าสูตรออร์แกนิก (ที่เน้นความเป็นธรรมชาติและไร้สารพิษหรือสารเคมีตกค้าง) จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีสูงกว่า 10% โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทต่อต้านริ้วรอย ที่เชื่อว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดต่อไปในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,196
วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559