เดินหน้าจัดระเบียบเปลี่ยนระบบสายไฟอากาศลงใต้ดิน

05 ก.ย. 2559 | 08:00 น.
สำนักงาน กสทช. ผนึก "กฟน.-สตช. และ ทีโอที" นำสายสื่อสารลงดินเพื่อดำเนินการหักเสาไฟฟ้าตามแผน นำร่องเส้นทางแรก ตั้งแต่แยกตึกชัยถึงราชวิถี 15 ส่วนอีก 5 เส้นทางคาดสิ้นปีแล้วเสร็จ เผยมูลค่าโครงการสูง 5 หมื่นล้านบาท เป้าหมายปั้น กทม. เป็นมหานครอาเซียน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงาน กสทช. และ 4 องค์กร ประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน รองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานในวันนี้จึงมีการดำเนินการหักเสาไฟฟ้าตั้งแต่แยกตึกชัยถึงราชวิถี 15 ซึ่งเป็นเส้นทางแรกจากทั้งหมด 6 เส้นทาง โดยต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2559

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสถานที่จริงผู้ประกอบกิจการได้เร่งดำเนินการนำสายลงดินแล้วบางส่วน ยังไม่พบปัญหา แต่สำหรับช่วงที่ 2 เส้นทางตั้งแต่ถนนราชวิถี 15 ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีผู้ใช้บริการหนาแน่นอาจมีปัญหาการถ่ายโอนลูกค้าบ้างแต่คาดว่าจะแล้วเสร็จตามที่กำหนด

สำหรับใน 5 เส้นทางที่เหลือที่ต้องมีการนำเสาไฟฟ้าลงดิน ประกอบด้วย 1. ถนนเพชรบุรี ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 6 ถึงถนนบรรทัดทอง 2. ถนนโยธี ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 6 ถึงซอยเสนารักษ์ 3. ถนนศรีอยุธยา ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 6 ถึงถนนพญาไท 4. ถนนราชปรารภ ตั้งแต่แยกประตูน้ำถึงถนนศรีอยุธยา และ 5. ถนนพระรามที่ 1 ตั้งแต่แยกปทุมวันถึงแยกกษัตริย์ศึก

"สำนักงาน กสทช. ยินดีสนับสนุนโครงการนำสายสื่อสารลงดิน เพื่อปรับภูมิทัศน์ให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ และยังช่วยในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชนด้วย โดยพร้อมที่จะกำกับดูแลเรื่องอัตราค่าเช่าท่อให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับทุกราย" นายฐากร กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า โครงการเปลี่ยนสายอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน วงเงินเกือบ 50,000 ล้านบาท การก่อสร้างตามโครงการนี้ บริษัท ทีโอทีฯ จะวางท่อสำหรับสายสื่อสารควบคู่กับท่อร้อยสายไฟฟ้า ขณะที่ กสทช.จะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการคิดค่าบริการ ส่วนสายสื่อสารที่ไม่ได้อยู่ตามพื้นที่ๆ จะก่อสร้างโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินนั้น กฟน.จะดำเนินการติดตั้งไม้คอน ยาวประมาณ 1 เมตร เพื่อใช้สำหรับพาดสายสื่อสาร ซึ่งจะนำร่องในปี 59 จำนวน 5 พื้นที่ ที่มีปัญหาวิกฤติใน กทม. ซึ่งการจัดระเบียบนี้จะทำให้รู้ว่าผู้ประกอบการรายใดลักลอบพาดสายโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสายสื่อสารเหล่านี้จะถูกนำออก และคงไว้เพียงสายสื่อสารที่ได้รับอนุญาตถูกต้องเท่านั้น

ส่วน บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ทำหน้าที่วางโครงการท่อร้อยสายควบคู่ไปกับโครงการเอาสายไฟลงดินของ กฟน.โดย ทีโอที จะใช้งบดำเนินการ 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ทีโอที คาดว่าจะมีค่าเช่าจากโครงการท่อร้อยสายที่ให้เอกชนมาเช่าใช้ราว 1,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบัน ทีโอที ได้เริ่มวางท่อร้อยสายใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว โดยมีความยาวของท่อรวมกันที่ 20,000 กิโลเมตร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559