‘ฟิลิป’‘CEO’ อินทัช มั่นใจข้อพิพาทไทยคมมีทางออก

10 ส.ค. 2559 | 08:00 น.
ถือว่าเป็นผู้บริหารคนแรกที่เป็นคนนอก เข้ามานั่งตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 หลังให้นั่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ถูกโปรโมตให้นั่งตำแหน่งอย่างเป็นทางการถึงตอนนี้เป็นเวลาเกือบ 9 เดือน

แต่ทว่าเส้นทางของ "ฟิลิป แทน" แม้จะไม่ได้เติบโตมาจากสายสื่อสารโดยตรง เขา ผ่านประสบการณ์ผ่านการทำงานกับบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย และสหรัฐอเมริกามากกว่า 27 ปี อาทิเช่น บริษัท เอทีแอนด์ที (ประเทศไทย), เบลล์แล็ปส์ โดยเฉพาะการธุรกิจบริการด้านการเงิน ในบริษัท จีอี แคปปิตอล จำกัด ผ่านงานหลากหลาย เช่น ร่วมก่อตั้งบริษัท จีอี แคปปิตอลฯ ในประเทศไทย ดำรงตำแหน่ง Chief Information Officer บริษัท จีอี แคปปิตอล คอมเมอร์เชียล เซอร์วิสฯ และ Senior Vice President – Business Intelligence บริษัท จีอี คอร์ปอเรท ไฟแนนเชียล เซอร์วิสฯ มลรัฐคอนเนกติกัต ประเทศสหรัฐอเมริกาตามลำดับ และ มีความเชี่ยวชาญเรื่องโมบายแบงกิ้ง เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ฟิลิป แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินทัช ติดตามอ่านได้บรรทัดถัดจากนี้

จุดพลิกผัน

จุดพลิกผันที่ตัดสินใจข้ามห้วยมานั่งตำแหน่ง ซีอีโอ ในครั้งนี้ เขา บอกว่าพออายุ 50 ปีเริ่มคิดแล้ว เพราะบางคนใช้เวลาช่วงนี้ไปวิ่งมาราธอน บางคนใช้เวลานี้หาซื้อรถมือสอง แต่สำหรับ "ฟิลิป" แล้ว เค้า กลับไม่คิดถึง "อินทัช" แต่เป็นช่วงจังหวะที่ Head Hunter ( ผู้ที่มีอาชีพรับจ้างสรรหา คนไปให้องค์กรที่ว่าจ้างคัดเลือกเข้าไปทำงาน) ติดต่อมาอย่างจิงจัง ทั้ง ๆที่ตลอดอายุงาน 20 ปี ไม่เคยมีการติดต่อกันเลย

นั้นจึงเป็นที่มาที่ลาออกจาก แบงก์กรุงศรี และ มาร่วมงานที่ อินทัช เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558

"แบงก์กรุงศรีฯ เป็นแบงก์ลำดับที่ 5 ของประเทศ แต่มาอยู่ที่ อินทัช ต่างกันเพราะลักษณะธุรกิจขนาดใหญ่กว่า และ จะนำเรื่องโมบายแบงกิ้งที่มีประสบการณ์เข้ามาผสมผสานธุรกิจในเครืออินทัช"

เอไอเอส ขายความสุขให้ลูกค้า

ฟิลิป บอกต่ออีกว่า อินทัช เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน เอไอเอส หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดังนั้น เอไอเอส ขายความสุขให้กับผู้ใช้บริการ คือ การเชื่อมโยงให้ทุกคนสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ โดยเฉพาะเรื่องโมบายแบงกิ้ง ที่กำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้ ซึ่ง อินทัช พยายามหาโอกาสดีๆ เพื่อสร้างพาร์ตเนอร์ให้กับประชาชนและลูกค้า เพราะ เอไอเอส มีผู้ใช้บริการจำนวน 38 ล้านเลขหมายถ้ามีผู้ใช้โมบายแบงกิ้งจำนวน 10% หรือประมาณ 3-4 เท่าตัวมีผู้ใช้ 3.8 ล้านเลขหมาย

เดินหน้าหาพันธมิตรเพิ่ม

ฟิลิป บอกว่า ขณะนี้มีหลายโปรเจ็กต์ที่จะเข้าไปลงทุน เพราะ อินทัช ทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้งส์คัมพานี ดังนั้นหน้าที่ ที่ต้องทำมีอยู่ 3 เรื่อง คือ สร้างประสิทธิภาพให้ เอไอเอส, 2.เดินหน้าร่วมทุนใหม่ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ อินเวนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของ อินทัช ได้เข้าไปร่วมลงทุนในเว็บไซต์วงในดอทคอม และ 3.สร้างภาพลักษณ์ให้องค์กรเป็นมืออาชีพและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะลูกค้า คือ คนไทย

"ตอนนี้ อินทัช มีเงินสดอยู่ในมือ 1.7 พันล้านบาทมีเงินสดอยู่ในมือพอที่จะทำอะไรได้เร็วขึ้น และ ภายในสิ้นปีนี้น่าจะมีโปรเจ็กต์ใหม่ๆ เกิดขึ้นขอเวลาหน่อยเพราะเพิ่งเข้ามาได้เพียง 9 เดือน"

เชื่อ "ไทยคม" มีทางออก

ส่วนเรื่องข้อพิพาทกรณีของ ไทยคม นั้น ขณะนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที และ ไทยคม เกี่ยวกับกรณีไทยคม 7 และ 8 ที่ กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ออกใบอนุญาตให้ แต่กระทรวงไอซีที จะให้ปรับเปลี่ยนเป็นส่วนแบ่งสัมปทานเหมือนเดิมนั้น เชื่อว่าทุกฝ่ายกำลังหาทางออก เพราะทางฝ่ายรัฐบาล และ ไทยคม ต่างฝ่ายต่างคิดว่าสิ่งที่ปฏิบัตินั้นถูกต้องตามกฎหมาย
ฟิลิป บอกต่ออีกว่า ตำแหน่งวงโคจรนั้นเป็นสิทธิ์ของประเทศถูกบริหารโดย ITU (International Telecommunication Union) หรือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และ ให้สิทธิ์ตำแหน่งวงโคจรให้กับประเทศไทย และ ให้บริษัทเป็นผู้บริหารตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ซึ่ง กสทช.ได้ออกใบอนุญาตให้ แต่ ไอซีที มองว่าตำแหน่งวงโคจรเป็นสิทธิของกระทรวง

"ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจามีหลายวิธีในการแก้ปัญหาเพื่อประเทศและประชาชน และ ไทยคม เป็นบริษัทมหาชน เพราะฉะนั้นดาวเทียมไทยคม7-8 ได้ใบอนุญาตจาก กสทช. ก็ควรเป็นใบอนุญาตต่อไป"

นอกจากนี้ นายฟิลิป ยังกล่าวต่ออีกว่า ไทยคม เป็นบริษัทมหาชนมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ อินทัช ซึ่งเป็นบริษัทคนไทย แม้จะมีการส่งเสริมจาก บีโอไอ ให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจได้ แต่จะให้ธุรกิจคนไทยแพ้ต่างชาติได้อย่างไร เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรจะสนับสนุนธุรกิจคนไทย

"ทั้งสองฝ่ายกำลังหาทางออกที่ดีที่สุด เราก็เข้าใจว่า ไทยคม เคยอยู่ในระบบสัมปทาน แต่เมื่อดวง 7-8 ออกเป็นใบอนุญาต ไปแล้ว และ ตอนนี้เป็นช่วงที่มี พ.ร.บ.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำลังปรับปรุงกันใหม่ ต้องแก้กฎหมายด้วยหรือไม่ และ ผม ไม่ใช่นักกฎหมาย"

"สมชัย" เป็นลีด "เอไอเอส"

สำหรับ เอไอเอส นั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ พี่สมชัย (สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ เอไอเอส) เพราะที่ผ่านมา เอไอเอส ได้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2 จี ,ขณะที่คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จี และ ล่าสุดนั้นได้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จี

"ต้องให้เวลา เค้า สร้าง 4 จี " นายฟิลิป กล่าว

และทั้งหมด คือ เส้นทางของ "ฟิลิป" ตลอดระยะเวลา 9 เดือนบนเก้าอี้ CEO อินทัช

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559