ดึง16 สหกรณ์ใช้ซอฟต์แวร์ ชสอ.หวังเชื่อมโยงสมาชิก 1,050 ราย/ฝันไกลตั้งแบงก์

10 มิ.ย. 2559 | 07:00 น.
ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ดึง 16 สหกรณ์นำร่องใช้โปรแกรมของชสอ. หลังว่าจ้างเมโทรพัฒนาเฟสแรกเสร็จแล้ว 9 ระบบ พร้อมลงนามเป็นใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารกรุงไทย/ทีโอที หวังเชื่อมโยงข้อมูลสมาชิกทั่วประเทศ ปูพรมสู่ธนาคารสหกรณ์ออมทรัพย์

[caption id="attachment_60287" align="aligncenter" width="371"] ดร.เฉลิมพล ดุลสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ดร.เฉลิมพล ดุลสัมพันธ์
ประธานกรรมการ
ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.)[/caption]

ดร.เฉลิมพล ดุลสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) เปิดเผยว่าขณะนี้บริษัท เมโทร ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาโปรแกรมสหกรณ์ออมทรัพย์ ในระยะแรก (เฟส 1) 9 ระบบงานหลัก ประกอบด้วย 1.ระบบงานทะเบียนสมาชิก 2.ระบบงานทะเบียนทุนเรือนหุ้น 3.ระบบงานเงินฝาก 4.ระบบงานสินเชื่อ 5.ระบบงานบัญชีและงบประมาณ 6.ระบบงานการเงิน 7.ระบบงานการดูแลปฏิบัติงาน 8.ระบบงานการเชื่อมต่อกับเอทีเอ็มกับธนาคาร และ ระบบการกระทบยอดและชำระดุล (ระหว่าง ชสอ. กับ ธนาคาร และ ชสอ. กับ สอ. สมาชิก โดยยึดหลักการออกแบบรหัสมาตรฐานกลาง ตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย) 9.ระบบงานการยกยอด/โอนย้ายข้อมูล (Data Conversion & Migration)เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกำหนดระยะเวลาสัญญาว่าจ้างในเดือนพฤษภาคม 2558

โดยล่าสุด ชสอ.ได้ทำสัญญาใช้บริการเครือข่ายเอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และการใช้บริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลส่วนตัว (Private Link) กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารสำคัญ พร้อมทั้งดึง 16 สหกรณ์ที่มีความพร้อมเข้ามาร่วมทดสอบการใช้งานในโครงการนำร่อง

"ที่ผ่านมาสมาชิก ชสอ. ต่างคนต่างพัฒนาซอฟต์แวร์ของตัวเองขึ้นมา บางสหกรณ์มีขนาดใหญ่ก็มีงบประมาณว่าจ้างเอกชนพัฒนา ส่วนสหกรณ์กลางและเล็ก ก็ใช้โปรแกรมของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำให้มีการใช้งานโปรแกรมหลากหลาย ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกัน ชสอ. จึงมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาให้ ชสอ. เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศของขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ จึงกำหนดแผนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการจัดหาโปรแกรมระบบงานสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงระบบข้อมูลของสหกรณ์ออมทรัพย์ได้ทั่วประเทศ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน และรองรับแผนการพัฒนาไปสู่ธนาคารสหกรณ์ฯ ตามเจตนารมณ์รัฐบาล"

ดร.เฉลิมพล กล่าวต่อไปอีกว่าสำหรับโครงการดังกล่าวมีมูลค่า 258 ล้านบาท มีระยะเวลาพัฒนา 2 ปี ชลอ.คาดว่าปีนี้จะมีสหกรณ์เข้ามาใช้ระบบดังกล่าวจำนวน 200 ราย และเพิ่มเป็น 500 รายในปีหน้า และคาดหวังว่าภายใน 4 ปี สหกรณ์สมาชิก ทั้งหมด 1,050 แห่งจะเข้ามาใช้งานระบบดังกล่าว โดยการเข้ามาใช้ระบบดังกล่าวช่วยให้สหกรณ์สมาชิก จ่ายค่าใช้จ่ายเป็นรายปี ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดงบลงทุนพัฒนาเองได้อย่างน้อย 20-30% และช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลทั่วประเทศ รองรับการใช้งานเอทีเอ็มและการชำระเงิน

ด้านนายอรุณ ต่อเอกบัณฑิต ผู้อำนวยการกลุ่มผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์โซลูชัน บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่าบริษัทได้ทุ่มทรัพยากรอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโปรแกรมออมทรัพย์ของ ชลอ.ให้ตรงกับความต้องการในการใช้งานจริงของสมาชิก โดยการพัฒนาโครงการระยะ 2 นั้น จะประกอบด้วยระบบงานเสริม 9 ระบบงาน คือ โปรแกรมระบบงานเสริม จำนวน 9 ระบบงาน ระหว่าง เดือนมิถุนายน 2559 -เดือนพฤษภาคม 2560 ได้แก่ 1.ระบบงานตั๋วสัญญาใช้เงิน 2.ระบบงานเงินลงทุน 3.ระบบงานสวัสดิการสมาชิก 4.ระบบงานสอบถามข้อมูลสมาชิก 5.ระบบงานผู้บริหารสอบถามข้อมูลธุรกิจ (MIS) 6.ระบบงานสมาชิกสัมพันธ์ 7.ระบบงานทะเบียนสินทรัพย์ 8.ระบบงานปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 9.ระบบงานสอบถามข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตและผ่านทางอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือสำหรับสมาชิกของสหกรณ์ออมทรัพย์ (Internet & Mobility Information Service)

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559