รัฐแห่จัดอีเวนต์ ปลุกกระแสไทยแลนด์ 4.0

24 พ.ค. 2559 | 05:00 น.
เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ประกาศชัดเจนต้องเปลี่ยนประเทศไทย ไปสู่ยุคประเทศไทย 4.0 (ไทยแลนด์ 4.0) จากประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้หลัก สัดส่วน 70 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มุ่งไปที่การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา ขับเคลื่อนภาคการผลิตสินค้าและบริการของประเทศ

นั่นจึงเป็นที่มาที่หน่วยงานภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ,กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ต่างผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0

นำร่องสตาร์ตอัพไทยแลนด์

ผ่านไปแล้วกับโครงการสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2016 ( Startup Thailand 2016) ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเป็นโต้โผร่วมกับ 11 หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการเปิดงานในวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานการเปิดงานพร้อมกับปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ"วิสัยทัศน์พลัง และ พลังสร้างชาติด้วยสตาร์ทอัพไทยแลนด์" ตอนหนึ่งว่า "ประเทศไทยต้องสร้างนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ในยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้นก็คือ "สตาร์ตอัพ" ซึ่งเราไม่สามารถทำคนเดียวได้ ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการสร้างความเข้มแข็งไปพร้อมๆ กันในประเทศอาเซียน

ในแวดวงไอทีนั้นความหมายของคำว่า "สตาร์ตอัพ" หมายถึง "Tech Startup" หรือบริษัทด้านไอทีรายใหม่ ที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุน Venture Capital เป็นต้น แต่ภายใต้นโยบายสตาร์ตอัพของรัฐบาลชุดนี้ ให้คำนิยามไปไกลกว่า Tech Startup แต่ครอบคลุมไปถึง "ธุรกิจเกิดใหม่" อย่าง SME โดยเฉพาะแนวผลิตภัณฑ์ OTOP

แม้ สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ จะผ่านพ้นไปแล้ว! แต่ก็ยังมีคำถามว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ถ้าจำกันได้เมื่อปี 2540 เกิดฟองสบู่แตกในยุคดอตคอมมาแล้ว และ ก็มีเว็บไซต์ของไทยล้มหายตายจากกันไป และ มีบางข้อมูลวิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมประมาณ 5% หรือ 1 ใน 20 ของธุรกิจสตาร์ตอัพเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ

 ตามติด "ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016"

เป็นเพราะคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลระยะเวลา 3 ปี (ปี 2559-2561) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งในส่วนของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้น มุ่งปฏิรูปประเทศไปสู่การเป็นดิจิตอลไทยแลนด์ (Digital Thailand)

นั่นจึงเป็นที่มาที่ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงาน "ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016" ตั้งแต่วันที่ 26-28 พฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ทั้งนี้งาน ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016 คือ งานเปิดตัวแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ภายใต้นโยบายรัฐบาล นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 โดยกระทรวงไอซีที ได้รับมอบหมายให้เป็นแกนกลางสานต่อพลังประชารัฐ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาธุรกิจใหม่บนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และประชาชนทุกภาคส่วนในสังคม ได้รวมพลังกันขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ และพัฒนาสังคมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเชื่อมโยงคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย เข้าด้วยกัน

 รวมพลังคนทั้งประเทศก้าวสู่ดิจิตอล

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของการจัดงาน ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016 เป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของคนทั้งประเทศในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลไปพร้อมๆ กัน มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์รวมการผลิตยุคใหม่ การค้า และการลงทุน ที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคอาเซียน ภายใต้แนวคิด Digital for All ซึ่งประชาชนทุกคนจะได้สัมผัสกับประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิตอลในชีวิตประจำวัน ภายในงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ งานสัมมนาวิชาการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและระดับโลก และงานนิทรรศการแสดงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิตอลที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม นอกจากนี้ ยังมีโซนกิจกรรม Digital Playground ที่ให้ประชาชนทุกคนได้มีโอกาสสัมผัสและเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตอลได้อย่างสนุกสนานทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงพบกับการรวมพลด้านเทคโนโลยีดิจิตอลครั้งสำคัญของประเทศไทยทั้งธุรกิจดิจิตอลระดับโลก Tech Startup หน่วยบ่มเพาะธุรกิจใหม่ นักลงทุนและผู้สนับสนุนทางการเงิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 ปิดจ็อบที่ "ITU Telecom World 2016"

ไม่เพียงเท่านี้ปลายปี 2559 กระทรวงไอซีที ได้ลงนามตกลงการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ITU Telecom World 2016 ร่วมกับ กสทช. และ ITU ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

เป้าหมายการจัดงานครั้งนี้เพื่อบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกฝ่ายในการสร้างเวทีระดับโลก ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมไอซีทีรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าอุตสาหกรรมไอซีทีเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ของหลายประเทศ บางประเทศใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามามีบทบาทในการประกอบธุรกิจภายในประเทศอย่างจริงจัง และใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถนำพาประเทศยกระดับขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญโดยการสนับสนุนและร่วมผลักดันเพื่อก้าวไปสู่ ดิจิตอล ไทยแลนด์ ต่อไป

สำหรับรูปแบบงาน ITU Telecom World 2016 แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1) การจัดนิทรรศการนานาชาติ (International Exhibition) เป็นส่วนจัดแสดงนวัตกรรมด้านไอซีที โทรคมนาคมและเทคโนโลยี โอกาสด้านการลงทุน 2) การประชุมวิชาการ (Forum) เป็นส่วนของการประชุมเชิงวิชาการที่ต้องการดึงดูดให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล และผู้นำจากภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมเพื่อจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และร่วมหารือ กำหนดทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับไอซีที และโทรคมนาคมในอนาคต ในส่วนของการประชุมวิชาการจะจัดขึ้นในรูปแบบและระดับต่างๆ ได้แก่ ระดับผู้บริหาร (Leadership Summit) การประชุมโต๊ะกลม (Ministerial Roundtable) การประชุมระดับปฏิบัติการ (Panel Session) และการประชุมผู้สนับสนุน (Sponsored Session) และ 3) พิธีมอบรางวัล (ITU Telecom World Awards) ให้กับ SMEs ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านไอซีทีโดยประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมงานจะทำการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีการพัฒนาและสามารถสร้างนวัตกรรมด้านไอซีที

และทั้งหมด คือ โครงการจัดงาน "อีเวนต์" ของภาครัฐเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559