เร่งยกเครื่องบริการรัฐดิจิทัล รับวิถี New Normal

20 พ.ค. 2564 | 19:25 น.

หน่วยงานรัฐผนึกกำลังเร่งเครื่องสู่ดิจิทัล หลังประชาชนแห่ทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ กฟน. เผยใช้เวลากว่า 10 ปี เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคสู่ช่องทางออนไลน์ ด้าน “ดีป้า” เดินหน้าส่งเสริมการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัลหนุนผู้ประกอบการ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปัจจุบันกระแสของดิจิทัล ดิสรัปชัน ของการให้บริการหรือการทำธุรกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและการประกอบกิจการต่างๆ มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งการทำธุรกรรมออนไลน์ การซื้อสินค้าและบริการ การชำระเงิน ตลอดจนการใช้บริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล อีกทั้งเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบันเน้นยํ้าให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเป็นเครื่องมือในการรองรับความปกติใหม่หรือ New Normal ประชาชนต้องทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น

รัฐบาลดิจิทัลจึงมีบทบาทสำคัญในการรองรับวิถีชีวิตแบบใหม่และช่วยจัดการรับมือกับวิกฤติิโรคระบาดด้วยเทคโนโลยี อาทิ การจัดการจำนวนข้อมูลผู้ติดเชื้อ การจัดสรรทรัพยากรด้านสาธารณสุข รวมถึงการให้ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการให้บริการไปสู่ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่ให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อบริการประชาชน และใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลตลอดจนสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และนำมาประยุกต์ใช้กับหน่วยงานเพื่อให้พร้อมในการเป็นรัฐบาลดิจิทัล

 

เร่งยกเครื่องบริการรัฐดิจิทัล รับวิถี New Normal

 

ด้านนายเปรมศักดิ์ โล่ห์ทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและบริหารทรัพย์สินเทคโนโลยี การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า การพัฒนายกระดับดิจิทัลของการไฟฟ้านครหลวง การขับเคลื่อนองค์กรต้องมีการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อตอบสนองผู้ใช้ในสังคมปัจจุบัน ทั้งการกำกับดูแลด้านดิจิทัล การให้บริการ ประชาชน การบริหารองค์กร โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ และการพัฒนาบุคลากร นโยบายด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร และนโยบาย ภาครัฐ รวมถึงการจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรในปัจจุบันและอนาคต ที่ผ่านมา กฟน. มีการปรับปรุงการให้บริการผู้ใช้ ไฟฟ้าให้เข้าถึงบริการต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัลผ่านช่องทางที่หลากหลายทั้งเว็บไซต์ โมบายแอพพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่การปรับรูปแบบการให้บริการกับประชาชนเพื่อเข้าสู่ช่องทางดิจิทัลใน การทำธุรกรรมกับการไฟฟ้านครหลวงสำหรับโมบาย แอพพลิเคชัน ใช้เวลากว่า 10 ปีในการเปลี่ยนพฤติกรรมและชักจูงประชาชนให้มาใช้บริการในรูปแบบดิจิทัล นอกจากนี้ กฟน. ยังได้เปิดตัว MEA Connect บนแพลตฟอร์มไลน์ LINE เพื่อให้บริการประชาชนโดยที่ผ่านมาประกอบกับช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้บริการช่อง ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มากขึ้นโดยมีการชำระค่าไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์กว่า 30 ล้านราย หรือคิดเป็น 70% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งการบริหารจัดการองค์กรไปสู่ดิจิทัลมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและสะดวกรวดเร็วสนับสนุนการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ กฟน. ยังมีแพลตฟอร์ม MEA Smart Office สำหรับสนับสนุนการปฏิบัติงานภายในองค์กร

 

ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า นโยบายสำคัญที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อ เศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เร่งขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องคือ การส่งเสริมให้เกิดการยื่นขอรับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรด้านดิจิทัลในประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ประกอบการด้านดิจิทัลได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน ผ่านมาตร การคูปองดิจิทัลเพื่อการจัดทำหรือยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Intellectual roperty Voucher) แล้วกว่า 30 ราย ทำให้ประเทศไทยมีคำขอรับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จาก ข้อมูลสถานภาพทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยจากกรมทรัพย์สินทา งปัญญา ปี 2563 ที่มีสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรด้านดิจิทัลที่ยื่นขอรับสิทธิไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 208 คำขอ คิดเป็น 2.64% ของคำขอทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 165 คำขอ คิดเป็น 1.8 % ของคำขอทั้งหมด ทั้งนี้ล่าสุด มติที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุนเห็นชอบ 10 โครงการจาก 8 ผู้ประกอบการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน ผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการจัดทำหรือยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจากการประกาศรับสมัครเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,680 หน้า 16 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม 2564