โควิดหนุน B2B อี-คอมเมิร์ซโต ดันมูลค่าแตะ 20 ล้านล้าน ปี 70

04 พ.ค. 2564 | 20:25 น.

ดีเอชแอล เผยโควิด-19 หนุน B2B อี-คอมเมิร์ซมาแรง ปี 62 โตแซง B2C เซ็กเตอร์ จากความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป คาดปี 70 มูลค่ากว่า 20.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นางปาริชาติ ประมุขกุล รองประธาน ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เปิดเผย ว่า หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มูลค่าการค้าขาย B2C อี-คอมเมิร์ซระหว่างประเทศ เติบโตถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดการณ์ในปี 2569 จะมีมูลค่าถึง 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ได้แก่ สินค้าลักชัวรีแฟชั่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และกีฬา และสินค้าที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยนั้นได้แก่ อาหารแห้ง, เครื่องปรุง, ของทำมือ, ของประดิษฐ์, ของแต่งบ้าน, สินค้า niche market ที่มีการส่งออกมากในช่วงโควิด-19 โดยเทรนด์อี-คอมเมิร์ซในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า 91% ของนักช็อปออนไลน์จะมองหาออพชันในการส่งสินค้าที่ตรงใจ และสามารถจัดส่งได้เร็วที่สุด โดย 68% ของมิลเลนเนียลจะ เลือกซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีออพชันในการจัดส่งสินค้า และยินดีที่จะจ่ายพรีเมียมเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย

 

โควิดหนุน B2B อี-คอมเมิร์ซโต ดันมูลค่าแตะ 20 ล้านล้าน ปี 70

 

ขณะที่การซื้อขาย B2B อี-คอมเมิร์ซ แบบเก่าได้จบไปแล้ว และดิจิทัลกำลังเข้ามา ซึ่งในปี 2562 พบว่าธุรกิจ B2B อี-คอมเมิร์ซเติบโตถึง 18.2% ทำให้มูลค่าการค้าขายมากกว่า B2C เซ็กเตอร์ นอกจากนี้จากการคาดการณ์พบว่าในปี 2570 ตลาด B2B อี-คอมเมิร์ซจะมีมูลค่าสูงถึง 20.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2562 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 12.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 35.6% ของบริษัทคาดหวังที่จะเพิ่มการขายบนช่องทางออนไลน์ถึง 75% จากผู้ซื้อ B2B ส่งผลให้ B2B อี-คอมเมิร์ซเติบโตถึง 70% และผู้บริโภคจะมีการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น สิ่งที่ผลักดันให้เกิด B2B เทรนด์ เนื่องจากลูกค้ามีพฤติกรรมและความคาดหวังที่เปลี่ยนไปจากเดิม ข้อมูลจากการ์ทเนอร์เผยว่าในปี 2568 การทำธุรกรรมของ B2B ประมาณ 80% จะอยู่บนช่องทางดิจิทัล และ 44% ของผู้ซื้อที่ตัดสินใจซื้อ B2B ไม่ต้องการที่จะพบกับเซลล์ เพราะสามารถตัดสินใจและหาข้อมูลการซื้อสินค้าได้เองบนช่องทางออนไลน์ และแพลตฟอร์ม B2B อี-คอมเมิร์ซ โดย 64% ของธุรกิจ B2B มีการวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในการทำเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซโดยลูกค้า B2B กลุ่มใหม่นั้นจะเป็นคนในยุคมิลเลนเนียล

 

 

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีของอี-คอมเมิร์ซเป็นตัวเร่งความต้องการของธุรกิจ B2B ได้เร็วขึ้น มีผู้ซื้อ B2B เพียง 20% เท่านั้นที่ยังคงมีการซื้อสินค้าแบบเดิมที่ยังต้องการพบกับเซลส์ ขณะที่ 70% ของ B2Bสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มูลค่ามากกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้เลย และ 27% สามารถสั่งซื้อสินค้ามูลค่ามากกว่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านช่องทางออนไลน์”

ด้านนายเฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประจำประเทศ ไทยและหัวหน้าภาคพื้นอินโดไชน่า กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2555 ค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษมีการพึ่งพาการค้าออนไลน์อยู่ราว 8% ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 20% แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมามีการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ 30% ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นจะยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนไปเพราะรู้สึกว่าสามารถซื้อสินค้าออนไลน์โดยจะเป็นเทรนด์ต่อจากนี้ไป สำหรับดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1973 ปัจจุบันมีสาขาใน 220 ประเทศทั่วโลก ในไทยมีศูนย์บริการสินค้า 14 แห่ง รีเทลเอาท์เล็ต 238 จุด ไฟลท์บิน 285 เที่ยวต่อสัปดาห์ มีบางกอกฮับ และพนักงานกว่า 1,138 คน

 

“จะเห็นว่าปี 2020 เกิดวิกฤติิโควิด ซึ่งส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงรวมถึงการนำเข้าส่งออกที่ชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้ โดยธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการกระตุกของเศรษฐกิจ ปีที่ผ่านมามีการผลักดันการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ คือสายการบินโดยสารทั่วไปหยุดบินกระทบต่อการฝากส่งของใต้ท้องเครื่องที่หายไปกว่าครึ่ง ดีเอชแอลจึงต้องนำเครื่องบินที่มี รวมถึงการจัดเช่าเหมาลำเครื่องบินขนส่งนำมาใช้เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นของอี-คอมเมิร์ซ ในปีนี้ดีเอชแอล มีโฟกัสหลักๆ คือ 1. การดูแลพนักงานให้ดี สร้างกฎระเบียบให้ทำงานได้อย่างปลอดภัย เว้นระยะห่างทางสังคม 2. มุ่งเน้นลงทุนให้เกิดดิจิทัลไลเซชันให้มีระบบดิจิทัลในการติดต่อกัน แต่ไม่กระทบต่ออีโคซิสเต็ม” 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,675 หน้า 16 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม 2564